รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากรและ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำถุงยังชีพประกอบด้วยสิ่งของเครื่องอุปโภคและบริโภค พร้อมด้วยเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และน้ำดื่ม ซึ่งจัดเตรียมขึ้นจากงบประมาณมหาวิทยาลัยและเงินกองทุนมอดินแดง คลังเลือดกลาง และจากการเปิดรับบริจาคที่อาคารองค์กรกิจกรรมนักศึกษาและคณะหน่วยงานต่างๆ ที่สมทบในกิจกรรม “มข.ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” ในโครงการ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ห่วงใย ช่วยเหลือสังคม ในภาวะวิกฤต” โดยมอบถุงยังชีพ รวมจำนวน 873 ชุด ให้กับผู้ประสบภัย ณ บ้านบึงเนียม บ้านบึงสวางค์ บ้านคุยโพธิ์ และ บ้านปากเปือย จังหวัดขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวถึงเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการดำเนินการครั้งนี้ว่า “จากที่เราได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นที่มาจากอุทกภัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความผูกพันกับประชาชนจึงอยากช่วยแบ่งเบาปัญหาความเดือดร้อน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายรวมทั้ง นักศึกษาก็ได้นำสิ่งของจำเป็นออกมาช่วยเหลือกันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค โดยในรอบนี้เราสามารถช่วยได้จำนวน 4 หมู่บ้าน ที่พอจะเป็นส่วนช่วยให้กำลังใจแก่ประชาชนในเบื้องต้น สำหรับในระยะยาวนั้นทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีอีกหลายคณะวิชาที่พร้อมจะลงมาช่วยเหลือประชาชนเพื่อการฟื้นฟูหลังน้ำลด แต่ทั้งนี้หากสถานการณ์อุทกภัยยังไม่ดีขึ้นทางมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีโครงการช่วยเหลือเพิ่มเติมได้อีก”
ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในทุกปีที่มีเหตุอุทกภัยในพื้นที่โดยเป็นการประสานการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยรวมทั้งองค์การนักศึกษาที่เป็นศูนย์กลางในการระดมน้ำใจจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปส่งมอบยังพื้นที่ ซึ่งปีนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ห่วงใย ช่วยเหลือสังคมในภาวะวิกฤต ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามแนวทางยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2563 – 2566 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการ (Academic Service Transformation) ในเรื่องการส่งเสริมการบริการวิชาการเพื่อตอกย้ำบทบาทหน้าที่ “การอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม” (Mindset of Social Devotion) การสร้างโครงการบริการวิชาการใหม่ที่เป็นการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง เรียนรู้และภูมิปัญญาของสังคม (Center of Social Wisdom) และการปรับเปลี่ยนการบริการวิชาการจากความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) สู่การสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating shared value : CSV) โดยเกิดคุณค่าทั้งผู้ให้และผู้รับ