วันที่ 28 ต.ค.64 ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ด้วย สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับการประสานงานจากประเทศมาเลเซียผ่านกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ขอให้อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ดำเนินการส่งผู้ร้ายคดีค้ามนุษย์ (โรฮิงญา) ซึ่งกระทำผิดที่ประเทศมาเลเซีย และลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จำนวน 9 คน กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศมาเลเซีย สำนักงานอัยการสูงสุดขอแถลงความเป็นมาของคดี ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศมาเลเซีย ตามที่ร้องขอมาในครั้งนี้ ดังนี้ 1. คดีที่ประเทศมาเลเซียมีคำร้องขอให้ประเทศไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดนในครั้งนี้ เป็นขบวนการคดีค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับคดีค้ามนุษย์ข้ามชาติ (เหยื่อค้ามนุษย์เป็นชาวโรฮิงญา) ที่ทางการประเทศไทยได้จับกุมและดำเนินคดี พลโท มนัส คงแป้น กับพวกอีกหลายคน ที่ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยเหยื่อถูกฆ่าและนำศพไปฝังหลายศพ และยังมีเหยื่อที่รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก คดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้ฟ้อง พลโท มนัส คงแป้น กับพวก ฐานค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ต่อศาล และต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก พลโท มนัส คงแป้น กับพวก จนคดีถึงที่สุดแล้ว 2. โดยขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะนำเหยื่อค้ามนุษย์ผ่านประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย และมีการนำเหยื่อชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมากข้ามไปยังรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งต่อมาทางการมาเลเซียได้ทลายขบวนการค้ามนุษย์ที่รัฐเปอร์ลิสพบเหยื่อค้ามนุษย์ถูกฆ่าและฝังศพไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ที่รอดชีวิตบางส่วนออกมาได้ โดยพฤติการณ์และข้อเท็จจริงดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับการกระทำต่อเหยื่อค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยได้ทลายขบวนการค้ามนุษย์จนมีการดำเนินคดีผู้ที่ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 – มีนาคม 2558 จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย พบว่า ผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ดังกล่าวเป็นชาวไทยรวมอยู่ด้วยจำนวน 9 คน และได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย 3. ในช่วงปี 2560 ทางการประเทศมาเลเซียจึงได้ทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ประเทศไทยส่งตัวผู้ร่วมกระบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีกลับมาในประเทศไทยให้กับประเทศมาเลเซีย ต่อมากระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานส่งเรื่องมายังสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีภารกิจรับผิดชอบไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สำนักงานต่างประเทศจึงได้ดำเนินการตามกฎหมายโดยมีคำขอต่อศาลอาญาให้ออกหมายจับคนร้ายที่ร่วมกระบวนการค้ามนุษย์ตามที่ทางการมาเลเซียแจ้งมาทั้ง 9 คน และต่อมาศาลอาญาได้ออกหมายจับบุคคลทั้งหมดดังกล่าว และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งหมายจับให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการติดตามจับกุมต่อไป 4. ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำการจับกุม นายเจ๊ะปา ลาปีอี หนึ่งในผู้ที่ทางการมาเลเซียร้องขอได้ และนำส่งตัวให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง นายเจ๊ะปา ลาปีอี ต่อศาลอาญาเพื่อดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนกฎหมายเพื่อให้ศาลมีคำสั่งส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศมาเลเซีย ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล 5. วันนี้ (28 ตุลาคม 2564) สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับการประสานงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า สามารถติดตามบุคคลที่ทางการมาเลเซียร้องขอ และศาลอาญาได้ออกหมายจับแล้ว เพิ่มอีก 2 คน คือ นายอรุณ แก้วฝ่ายนอก และนายบุญเย็น เนสาแหละ โดยจะส่งบุคคลทั้งสองให้กับพนักงานอัยการในวันนี้ ซึ่งหากได้รับตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการจะได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลอาญาทันทีเพื่อเข้าสู่กระบวนการเช่นเดียวกันกับนายเจ๊ะปา ลาปีอี สำนักงานอัยการสูงสุดขอเรียนว่า การให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยอัยการสูงสุดมีฐานะเป็นผู้ประสานงานกลาง ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมีสำนักงานต่างประเทศ เป็นหน่วยงานในสำนักงานอัยการสูงสุด มีหน้าที่รับผิดชอบในเบื้องต้นในการพิจารณาคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับต่างประเทศที่มีคำร้องขอทำนองเดียวกันกับประเทศมาเลเซียที่มีคำร้องขอมาในครั้งนี้ รวมทั้งการส่งคำร้องไปยังต่างประเทศ ในกรณีประเทศไทยต้องการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากต่างประเทศ เพื่อกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย นอกจากนี้ สำนักงานต่างประเทศยังมีภารกิจในการดำเนินคดีในชั้นศาล ตลอดจนประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความพร้อมและมีทีมพนักงานอัยการที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ พร้อมขับเคลื่อนและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องนี้ ในเรื่องความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นหนึ่งในอาชญากรรมข้ามชาติที่ทั่วโลกและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการปราบปราม สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างยิ่ง และหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด ที่ได้แถลงนโยบายไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 คือการดำเนินการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศและเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม รวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น