นับถอยหลังวันเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ เดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งผ่อนปรนมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของในประเทศอีกหลายพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น ประเดิมต้อนรับ 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา แต่ถึงกระนั้นการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ควบคู่กัน โดยในส่วนผู้เกี่ยวข้องมีมุมมองที่น่าสนใจ นำไปเป็นการบ้านให้รัฐบาลขบคิดด้วยเช่นกัน โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวสะท้อนถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยาวนาน อีกทั้งในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี คาบเกี่ยวไปถึงช่วงต้นปีถัดไป นับว่าเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ และถึงแม้สถานการณ์โควิด-19ในประเทศที่จะนิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 และนโยบายการเดินทางออกนอกประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ในบางประเทศยังกำหนดให้ต้องมีการกักตัวหลังเดินทางกลับ เป็นต้น ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในช่วง พ.ย. - ธ.ค. 64 อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเห็นผลที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายเดือน ธ.ค. นี้ โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 64% เมื่อเทียบกับที่ไม่มีมาตรการ ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 ขยับขึ้นมาที่ประมาณ 1.8 แสนคน (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5 แสนคน) สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท โดยรายได้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ยังกระจายอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ “นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เชื่อว่าหลังเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ การท่องเที่ยวจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น จากที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าภาคธุรกิจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรืออย่างเร็วที่สุด 3 เดือน ในการทยอยฟื้นตัว ประกอบกับนักท่องเที่ยวตลาดหลัก โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เคยเดินทางมาไทย ยังไม่มีนโยบายออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งนี้ ประเด็นสำคัญขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว แต่อยู่ที่ประเทศปลายทางด้วยว่าเอื้อให้คนออกเดินทางนอกประเทศมากแค่ไหน ออกมาเที่ยวแล้วกลับไปถูกกักตัวหรือไม่มากกว่า เช่นเดียวกับ “นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดว่า เม็ดเงินกว่า 30,000 ล้านบาท จะสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทย จากการเปิดรับนักท่องเที่ยว และหนุนให้จีดีพีไทยปีนี้ เติบโต 1-1.5% โดยยังเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ ด้านแม่บ้านที่เปิดเสมือนประตูด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างสนามบิน ได้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับ ซึ่ง “นายนิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT บอกว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ใช้บริการผ่านสนามบินของ ทอท. ทั้ง 6 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, หาดใหญ่, ภูเก็ต, เชียงราย เฉลี่ยวันละ 30,000 คน ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ ก็เชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนการเตรียมพร้อมการให้บริการด้านอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินในสังกัด ทอท. ทั้ง 6 แห่งนั้น ทอท. ได้มีการให้ทดสอบบริการระบบ ด้านภาคพื้นตามระยะเวลาปกติ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะไม่มีสายการบิน และผู้โดยสารเดินทาง หรือกลับมามีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 1 ก.ย. 64 เป็นต้นมา ดังนั้นทาง ทอท.มั่นใจว่าในส่วนของระบบสนามบินไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และ “นายปริญญา แสงสุวรรณ” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า สนามบินในความรับผิดชอบ 29 แห่ง ได้มีการเตรียมรองรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว นักเดินทางตามนโยบายเปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 นี้ แม่ฮ่องสอน ซึ่งการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศดังกล่าวนี้เป็นไปตามมาตรการของสาธารณสุข DMHTT ที่กำหนดไว้แล้ว การเปิดประเทศ 1 พ.ย. 2564 แม้จะมีหลายฝ่ายกังวล “ความเสี่ยงการระบาดไวรัสโควิด-19” แต่สิ่งที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันได้ คือ “การ์ดห้ามตก” เพราะสุดท้าย! ถึงอย่างไรพวกเราก็ต้องอยู่กับ “ไวรัสโควิด-19” ต่อไป