สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) พระสังฆราชองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประสูติในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2417 ที่เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรีในสมัยก่อน เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียนกับบิดาซึ่งเป็นบูรพาจารย์ แล้วมาศึกษาต่อกับพระอาจารย์ช้าง ที่วัดสระเกศ ในด้านเขียนอ่าน คำนวณ ลูกคิด และโหราศาสตร์ ต่อมาบรรพชาเป็นสามเณรทรงศึกษาภาษาบาลีและมูลกัจจายน์ ในสำนักพระอาจารย์ช้างเช่นกัน มาศึกษาพระปริยัติธรรมกับพระธรรมกิติ (เม่น) ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสังเวช บางลำพู และศึกษาต่อที่สำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง) และสำนักพระยาธรรมปรีชา (ทิม) ตามลำดับ พระองค์สามารถเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมได้เปรียญ 4 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่ เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุได้รับพระฉายาว่า “ญาโณทโย” ทรงศึกษาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์อีกหลายๆ สำนัก ด้วยพระสติปัญญาอันฉลาดหลักแหลม จึงสามารถศึกษาวิชาการทุกๆ แขนงได้อย่างแตกฉาน ทรงเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมเปรียญ 9 ประโยคตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ผิดพลาดเลยเป็นองค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 5 นับได้ว่าทรงมีพระปรีชาสามารถสูงยากจะหาผู้เทียบเสมอได้ ทรงมีความชำนาญด้านพระบาลี อรรถกถา และฎีกาต่างๆ ทรงเป็นผู้ชำระอัฏฐกถาวิภังศปกรณ์ชื่อ “สัมโนหวิโนทนี” นอกจากนี้ ทรงมีความเชี่ยวชาญโหราศาสตร์มาก สามารถพยากรณ์หาฤกษ์ยามได้อย่างแม่นยำ ตลอดพระชนมายุทรงอุทิศตนแก่พระบวรพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทั้งวัตรปฏิบัติ ศาสนกิจ และสังฆกรรมต่างๆ พระองค์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์เรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 ดังนี้ พระภควัมบดี พระพุทธโฆษาจารย์อยู่ - รัชกาลที่ 5 พ.ศ.2451 เป็นที่พระปิฎกโกศล ตำแหน่งพระราชาคณะ - รัชกาลที่ 6 เป็นที่พระราชเวที ต่อมาขึ้นเป็นที่พระเทพเวที เจ้าอาวาสวัดสระเกศ พ.ศ.2467 - รัชกาลที่ 7 พ.ศ.2470 เป็นที่พระธรรมเจดีย์ ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นธรรม - รัชกาลที่ 8 พ.ศ.2488 เป็นที่พระธรรมวโรดม พระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรอง - รัชกาลที่ 9 พ.ศ.2496 เป็นที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และในปี พ.ศ.2506 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” ถึงแม้พระองค์จะดำรงตำแหน่งหรือสมณศักดิ์ใดก็ตาม ก็ยังคงดำรงพระองค์เช่นเดิมมีเมตตาธรรมช่วยเหลือผู้เดือดร้อนโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เป็นที่เคารพรักและศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทุกยุคทุกสมัย พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2508 พระชนมายุ 91 พรรษา วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) นั้น ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนทุกแวดวงที่จะมีไว้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่เป็นที่นิยมเล่นหากันอย่างกว้างขวางคือ พระภควัมบดี และเหรียญรูปเหมือนซึ่งมีทั้งหมด 3 รุ่น พระภควัมบดีนั้นค่อนข้างหายากมาก แต่ “เหรียญรูปเหมือน” ยังพอมีให้เช่าหาสะสมกันอยู่ เหรียญพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ รุ่นแรก  2496 เหรียญพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ รุ่นแรก  2496 เหรียญพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ รุ่นแรก  2496 เหรียญรุ่นแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ.2496 ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มเนื้อทองแดง รูปหยดน้ำ หูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หน้าตรง มีอักษรไทยว่า “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาโณทโย อยู่ ป.๙) วัดสระเกศ” ด้านหลังเป็น “ยันต์องค์พระ” บรรจุอักขระขอมอ่านว่า “นิ มะ ติติ” ส่วนเหรียญอีก 2 รุ่นนั้น สร้างเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสงานฉลองพระสุพรรณบัฏ พ.ศ.2506 และในโอกาสงานฉลองพระชนมายุครบ 90 พรรษา พ.ศ.2507 เป็นเหรียญทรงกลมทั้งสองรุ่นครับผม เหรียญพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ ปี  2506 เหรียญพระพุทธโฆษาจารย์อยู่ ปี  2506