จากเดิมที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี คาดการณ์ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย จะกลับมาเติบโตร้อยละ 4.5 แต่ด้วยผลกระทบวิกฤติโควิด ซึ่งค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ทางรัฐบาลก็ลดอัตราการเติบโต ลงมาเหลือร้อยละ 3.8 และคาดว่า ในปี 2565 จะกลับมาเติบโตดีเหมือนเดิม ซึ่งในเรื่องนี้ นายโสภณ ตันตโยทัย ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้สะท้อนแผนการดำเนินงานที่จะดึงนักท่องเที่ยวในประเทศอินโดนีเซีย มายังประเทศไทยทันสิ้นปีนี้ นทท.อินโดนีเซียเข้าไทยกว่า 7 แสนคน ทั้งนี้ นายโสภณ ตันตโยทัย ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในจำนวนประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซียที่มีจำนวนกว่า 270 ล้านคน มีหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตโฮลเดอร์ประมาณ 15 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 5%ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในจำนวน 15 ล้านคน ก่อนเกิดโควิดได้เดินทางออกนอกประเทศ 10-12 ล้านคน ซึ่งในส่วนของจำนวนคนเดินทางออกนอกประเทศปีละ 10-12 ล้านคน ปรากฏ ว่า ประเทศไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 4 ที่ชาวอินโดนีเซียเดินทางเข้ามาเที่ยว โดยข้อมูล ปี 2562 เป็นตัวเลขคร่าวๆ จากยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก พบตัวเลขนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียมีอยู่ประมาณ 7 แสนคน โดยอันดับแรก คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่ง 2 ประเทศนี้ ส่วนใหญ่ที่เดินทางมานั้นปีละ 2-3 ล้านคน เนื่องจากมีการเดินทางสะดวก และอยู่ใกล้ มีเที่ยวบินเชื่อมโยงเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เดินทางไปเพื่อทำงาน ส่วนอันดับ 3 คือ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คือ เดินทางไปปีละหนึ่งล้านกว่าคน หรือประมาณ 100% เป็นมุสลิม-อินโดนีเซีย ไปประกอบพิธีฮัจญ์ และในช่วงเกิดโควิด-19 มีการเลื่อนพิธีออกไป ซึ่งน่าจะเปิดอีกทีคงจะเป็นปี 2565 ลุ้นรัฐบาลปลดล็อกอินโดนีเซียก่อนสิ้นปี โดย นายโสภณ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมของชาวอินโดนีเซีย พบว่า ส่วนใหญ่จะวางแผนเดินทาง ประมาณ 1-2 เดือน ขณะที่ในกลุ่มมิลเลนเนียลจะมีระยะเวลาที่สั้นกว่า คือ จะวางแผนการเดินทางเพียง 18 วันล่วงหน้า ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ชาวอินโดนีเซีย เลือกเดินทางออกท่องเที่ยวต่างประเทศ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะเป็นเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคมเริ่มตั้งแต่ ฤดูถือศีลอดของแต่ละปี ต่อเนื่องไปจนถึงปิดภาคเรียน อีกช่วงหนึ่ง คือ ปลายเดือนธันวาคม สำหรับการเดินทางนักท่องเที่ยวของชาวอินโดนีเซีย มักะค้นหาข้อมูล ทางโมบายโฟน และจองผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ที่เป็นเอเยนต์ท่องเที่ยวออนไลน์ หรือ โอทีเอหลัก ซึ่งที่เป็นที่นิยมของอินโดนีเซียที่มีอยู่ด้วยกัน 3 แพลตฟอร์ม คลายล็อกเพื่อมีเที่ยวบินพาณิชย์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นายโสภณ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียไม่มีคำสั่งห้ามชาวอินโดนีเซียเดินทางไปต่างประเทศ แต่ยังมีนโยบายห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเองยังจัดอินโดนีเซียเป็นประเทศความเสี่ยงสูง เนื่องจากในช่วงที่ประเทศไทยเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่อินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เฉลี่ยสูงถึง 6 หมื่นคนต่อวัน แต่เมื่อถึงกลางเดือนสิงหาคม จนปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น พบยอดผู้ติดเชื้อระดับหลัก 3-5 พันคนต่อวัน แต่ก็ยังไม่มีอินโดนีเซียติดอยู่ในรายชื่อ 78 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าโครงการแซนด์บ็อกซ์ของไทย จึงทำให้ดีมานด์เที่ยวบินระหว่างประเทศยังไม่กลับมา สายการบินจึงยังไม่กลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบปกติระหว่างไทย-อินโดนีเซีย ซึ่งหากรัฐบาลอินโดนีเซียผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ รวมถึงรัฐบาลไทยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็น่าจะเริ่มมีเที่ยวบินพาณิชย์เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดอินโดนีเซียกลับมาเที่ยวไทยได้เร็วขึ้น และน่าจะฟื้นตัวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งสายการบินอินโดนีเซียแอร์เอเชีย ที่แสดงความสนใจทำการบินตรง 2 เส้นทาง ได้แก่ จาการ์ตา-กรุงเทพฯ 3 เที่ยวบินต่อวัน และเดนปาซาร์-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดรับกับช่วงเวลาที่คาดว่าน่าจะมีการเปิดกรุงเทพฯรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมกันนี้ นายโสภณ ยังกล่าวถึงการเร่งระดมฉีดวัคซีนของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ฉีดให้ประชากรเข็มที่ 1 แล้ว 81 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรทั้งหมด ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 46 ล้านคน คิดเป็น 22% ซึ่งมีเป้าที่ต้องฉีดให้ได้วันละ 2.5 ล้านคนในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเดือนตุลาคมเป็นต้นไป วันละ 5 ล้านคน สู่เป้าหมายการเปิดประเทศ ฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 208 ล้านคนทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกิน 70% ของประชากรทั้งหมด 273 ล้านคน