ผอ.ชลประทานบุรีรัมย์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเผย 7 อ่างเกินระดับกักเก็บ ต้องเร่งระบายออกเตรียมพร้อมรับมือพายลูกใหม่ ทั้งอยู่ในข่ายเฝ้าระวังใกล้เต็มความจุอีก 6 อ่าง กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด ยังไม่พบผลกระทบจากการระบายน้ำ
(26 ต.ค.64) นายมนัส วีระวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัด ที่อยู่ในความดูแลทั้ง 16 แห่ง พบว่า ในจำนวนนี้มีปริมาณน้ำที่เกินระดับกักเก็บแล้วจำนวน 7 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก , อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด , อ่างเก็บน้ำลำตะโคง , อ่างเก็บน้ำห้วยตาเขียว , อ่างเก็บน้ำห้วยตะโก , อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว และอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย ซึ่งขณะนี้ทางโครงการชลประทานก็ได้ทำการระบายน้ำออกจากอ่างทั้ง 7 แห่ง ที่เกินความจุอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพายุลูกใหม่ที่คาดว่าจะทำให้มีฝนตกในพื้นที่ ช่วงวันที่ 28-29 ตุลาคม นี้
นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังเนื่องจากระดับน้ำใกล้จะถึงความจุอีก จำนวน 6 แห่งด้วย ก็ให้เจ้าหน้าที่ติดตามดูอย่างใกล้ชิด หากพบปริมาณน้ำเกินความจุก็ต้องทำการระบายออกเช่นกัน ส่วนน้ำที่ระบายออกไปแล้วยังไม่ได้ส่งผลกระทบกับพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนของประชาชนแต่อย่างใด มีเพียงนาข้าวบางส่วนที่อยู่ติดริมลำน้ำมูล ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ถูกระบายมาจาก จ.นครราชสีมา ช่วงก่อนหน้านี้อยู่บ้าง
ผอ.โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ยังระบุอีกว่า ถึงแม้ปริมาณน้ำในอ่างหลายแห่งจะมีน้ำเกินความจุและต้องทำการระบายออก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรหรือประชาชนแต่อย่างใด และหากดูสถานการณ์น้ำในอ่างภาพรวมของจังหวัด ถือว่าส่งผลดีมากกว่าเพราะจะมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากปีที่ผ่านมา จ.บุรีรัมย์ ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำดิบไม่เพียงพอผลิตประปา จนต้องสูบดึงน้ำจากหลายแห่งมาเติมเข้าอ่าง แต่ปีนี้เชื่อว่าจะมีน้ำใช้เพียงพอต่อเนื่องถึง 2 ปี