เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "หญิงสาวชาวแคนาดาประสบเหตุอุกกาบาตตกใส่บ้านจนหลังคาทะลุ อีกทั้งยังตกลงข้างหมอนขณะที่เธอกำลังนอนหลับอยู่ แม้จะฟังดูน่าตกใจแต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นก็เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว ในคืนวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ขณะ รูท แฮมิลตัน (Ruth Hamilton) หญิงวัยเกษียณ อายุ 66 ปีกำลังหลับอยู่ในบ้านของเธอ ณ รัฐบริติชโคลัมเบีย ทางตะวันตกของประเทศแคนาดา จู่ๆ ก็มีเหตุให้เธอต้องสะดุ้งตื่นขึ้นกลางดึกเนื่องจากเกิดเสียงดังคล้ายเสียงระเบิด เธอโทรไปยังสายด่วน 911 เพื่อแจ้งเหตุเพราะคิดว่าต้นไม้ล้มทับบ้าน แต่ขณะกำลังคุยโทรศัพท์อยู่เธอก็สังเกตเห็นก้อนหินสีดำตกอยู่บนเตียง มันมีขนาดเท่ากำปั้น ดูเหมือนจะตกทะลุหลังคาบ้านลงมาแบบเฉียดศีรษะของเธอไป รูทรายงานไปยังมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ (University of Western Ontario) ว่าก้อนหินปริศนานี้อาจจะเป็นอุกกาบาต ซึ่ง ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาตก็ได้ยืนยันว่าสิ่งที่ตกใส่บ้านของรูทเป็นอุกกาบาต น้ำหนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม ต่อมา รูทได้ส่งอุกกาบาตไปยังมหาวิทยาลัยแคลการี (University of Calgary) เพื่อทำการศึกษาต่อ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณบ้านของรูท และได้พบเข้ากับอุกกาบาตอีกก้อนที่ตกในเวลาเดียวกัน ห่างจากบ้านของรูทไปไม่กี่กิโลเมตร อุกกาบาตเป็นส่วนหนึ่งจากวัตถุนอกโลก เช่น ดาวเคราะห์น้อย ที่หลงเหลือจากจากการลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก หากเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศก็จะเป็นเพียง “ดาวตก” แต่หากเผาไหม้ไม่หมด หลงเหลือเศษตกลงสู่พื้นโลกจะเรียกว่า “อุกกาบาต” มีโอกาสน้อยมากที่อุกกาบาตจะตกใส่พื้นที่ชุมชน จึงแทบไม่มีรายงานเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้เลย รายล่าสุดที่มีการบันทึกว่าได้รับบาดเจ็บจากอุกกาบาตคือเกือบ 70 ปีก่อน ในปี พ.ศ.2507 หญิงสาวชื่อแอน ฮอทเจส (Ann Hodges) ประสบอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกัน คือ ถูกอุกกาบาตที่ตกทะลุหลังคาลงมาถูกขาของเธอ ขณะกำลังนอนอยู่ในบ้านและได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่มีอันตรายถืงแก่ชีวิต ในประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2559 ณ บ้านของนางบัวล้อม ชโลมไพร อายุ 65 ปี เวลาประมาณ 09.00 น. ซึ่งทุกคนอยู่ในบ้านเช่นกัน แต่ก็ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงหลังคาที่ทะลุเป็นรู ซึ่งในครั้งนั้นทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้นำชิ้นส่วนอุกกาบาตไปตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นอุกกาบาตที่มาจากนอกโลกจริง หินอุกกาบาตได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์เนื่องจากเป็นวัตถุที่อาจส่งผลเสียหายได้มหาศาลหากมีขนาดที่ใหญ่พอและตกลงในแหล่งชุมชน เช่น เมื่อครั้งที่อุกกาบาตตกในเมืองเชเลียบินสค์ ประเทศรัสเซีย ในปี พ.ศ. 2556 (Chelyabinsk Event) แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากแต่ก็ไม่มีใครรับประกันว่ามันจะไม่เกิดขึ้น การศึกษาวัตถุเหล่านี้อย่างละเอียดในทุกแง่มุม จึงอาจมีส่วนช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หากเกิดการพุ่งชนขึ้นอีกในอนาคต เรียบเรียง : นายสิทธิพร เดือนตะคุ อ้างอิง : [1] https://www.livescience.com/meteorite-near-miss-bedroom... [2] https://www.nytimes.com/.../world/canada/meteorite-bed.html"