กฟผ.- คณะเกษตรศาสตร์ มช. จุดประกายสร้างสังคมปลอดคาร์บอนอย่างยั่งยืนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสังคม เศษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเกิดภัยพิบัติต่างๆ สาเหตุหลักมาจากปริมาณก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.64 ที่ห้องประชุมฯ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการประชุมหารือร่วมระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) และ ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเกษตรและป่าไม้ (Agriculture and Forestry Climate Change Research Center; AFCC) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อหาแนวทางลดคาร์บอนภาคการเกษตรและป่าไม้ การวิจัยและพัฒนาลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ผ่านการการปลูกป่าสนับสนุนและพัฒนากลไกระเบียบวิธีการตรวจวัดที่ทันสมัยได้มาตรฐาน เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กลไกคาร์บอนเครดิต (carbon credit) การพัฒนาบุคลากรร่วมกัน สนับสนุนและพัฒนากลไกตรวจวัดที่ได้มาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเข้าสู่กลไกคาร์บอนเครดิต (carbon credit)ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกันของทั้งสองหน่วยงาน
ผศ.ดร. ดรุณี นาพรหม คณบดี คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ มช. เห็นความสำคัญในการปรับตัวของภาคการเกษตรและป่าไม้ต่อกฎระเบียบด้านการจัดการคาร์บอนของโลก ที่จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรและสังคมในอนาคตจึงจัดตั้งศูนย์วิจัย AFCC ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนา ตรวจวัด และรับรองการจัดการคาร์บอน เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การหารือร่วมครั้งนี้เป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่สำคัญระหว่างหน่วยงานรัฐด้านพลังงานของไทยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนสนับสนุนกลไกและแผนพัฒนาประเทศภายใต้การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เตรียมพร้อมเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในอนาคตเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนโดยการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกษตรมาบริหารจัดการ ขณะที่นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า กฟผ. มีนโยบายผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยสู่พลังงานสะอาดและตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 โดย กฟผ. ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของกระบวนการผลิตไฟฟ้า จึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายใต้การเติบโตร่วมกันของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน คือ การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด การดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ เป็นกลไกสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม การสร้างความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และ ศูนย์วิจัย AFCC จะเป็นอีกพลังที่สำคัญ เพื่อผลักดันให้ กฟผ. บรรลุสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยเฉพาะมาตรการหลักสำคัญ คือ การปลูกป่าล้านไร่ ภายในปี ค.ศ. 2031และมาตรการ Support จากโครงการด้าน Energy Efficiency และ BCG Economy ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 8 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อร่วมสร้างอนาคตปลอดคาร์บอนให้กับคนไทยทุกคน
ดร. สมชัย สมัยสุต รองประธานที่ปรึกษา ศูนย์ AFCC กล่าวถึง ผลการประชุมความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานครั้งนี้ว่า จากการที่ กฝผ. มีแนวทางการสร้างสังคมปลอดคาร์บอน ในขณะที่ศูนย์วิจัย AFCC มีวัตถุประสงค์การทำงานวิจัยและพัฒนา สร้างแนวทางและตรวจรับรองการลดคาร์บอน โดยมุ่งเน้นบริการสังคมและสนับสนุนการสร้างสังคมและเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ด้านคณะเกษตรศาสตร์ มช. มีความพร้อมที่จะสนับสนุนองค์ความรู้ ทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการผลิตปัจจัยต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จต่อการปฏิบัติการของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยเฉพาะการผลิตกล้าพันธุ์ไม้และวิธีการจัดการปลูกป่าล้านไร่ให้สำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย AFCC คณะเกษตรศาสตร์มช. ยังพร้อมเป็นศูนย์กลางร่วมผลักดันและขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ผ่านการทำงานที่ใช้วิทยาศาสตร์การเกษตรสร้างสังคมปลอดคาร์บอนร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยหลังจากนี้ ทางศูนย์วิจัย AFCC คณะเกษตรศาสตร์ มช. และ กฝผ. จะได้ร่วมจัดทำบันทึกข้อตกลงในการสนับสนุนการปฏิบัติการครั้งนี้ต่อไป