ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน ไม่มีแม้เงาของ มิน อ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมา แม้เสียงจะไม่เป็นเอกฉันท์ แต่บรูไนในฐานะเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ ก็ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนปราศจากตัวแทนเมียนมา เรื่องนี้ทำให้ มิน อ่องหล่าย ผิดหวังอย่างมาก ถึงกับออกมาแถลงต่อสื่อถึงความผิดหวังนั้น อย่างไรก็ตามก็ยังดีที่ไม่มีการเชิญตัวแทนเมียนมา ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมาประชุม ไม่งั้น มิน อ่องหล่าย คงจะหน้าแตกมากกว่านี้ เหตุที่อาเซียนหลายประเทศมีปฏิกิริยาเช่นนี้ เพราะข้อเสนอของอาเซียน ที่ให้มีการเจรจากัน และยุติการปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารเมียนมา ขนาดส่งผู้แทนจากอินโดนีเซีย ในนามตัวแทนอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์ และปรึกษาหารือแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร ขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศ แอน โทนี บริงเคน จะเดินทางมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายดีเรค โชลเล็ต ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯจะแวะมาเยี่ยมประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่าการปรึกษาหารือเกี่ยวกับเมียนมา จะเป็นเรื่องหลัก และเน้นว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะพยายามหาทางร่วมมือกับประเทศไทย เพื่อเพิ่มแรงกดดันเมียนมา และเน้นว่าจีนจะมีบทบาทที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างสำคัญ เมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม ผู้แทนพิเศษของ UN ด้านสิทธิมนุษยชน ในเมียนมา Tom Andrews ได้ทวีตข้อความว่า คณะทหารที่ปกครองเมียนมา ได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองออกมาในครั้งนี้ มิใช่ว่าพวกเขาได้เปลี่ยนใจ แต่เพราะถูกกดดันจากนานาชาติ ดังนั้นการปฏิเสธเงินของคณะทหาร การปิดกั้นเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ และการไม่รับรองว่าคณะทหารเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องทางกฎหมาย เป็นทางเดียวที่ชาวโลกจะช่วยสนับสนุนประชาชนชาวเมียนมาได้ ทั้งนี้สื่อได้รายงานว่า นักโทษการเมืองระดับสูง 8 คน ได้ถูกปล่อยตัวออกมา เช่น นักการเมือง พรรค NLD นาย Monywa Aung Shin เลขาธิการคณะกรรมการสารนิเทศ นักแสดงชื่อดัง Za GaNar และ Yay Pumonk ตลอดจนสมาชิกพรรค NLD อีกหลายคน ที่มัณฑะเลย์มีผู้ต้องคุมขังถูกปล่อยตัว 80 คน จากคุกมัณฑะเลย์ อีก 70 คน จากคุก Mogok และอีก 38 คน จากคุก Meikhtila อย่างไรก็ตามมี 11 คนที่ถูกจับตัวกลับไปใหม่ภายใต้กฎหมายการก่อการร้าย รัฐ Kayin รัฐบาลทหารปล่อยตัวผู้ต้องขัง 71 คน จากคุก Hpa-An ส่วนเขต Magway ปล่อยผู้ต้องขัง 370 คน จากคุกของรัฐ พื้นที่เขต Tanintharyi ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 110 คน จากคุก Dawei และเขต Sagaing ปล่อยตัว 183 คนจากคุก Shwebo การผ่อนปรนของรัฐบาลทหารเมียนมาในครั้งนี้ ผู้สันทัดกรณีมองว่าเป็นการผ่อนปรนการกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากอาเซียน กระนั้นก็ตามประเทศไทย ที่เป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมาและเป็นสมาชิกของอาเซียนได้งดออกเสียง ตามข้อเสนอของบรูไนเจ้าภาพ ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็จะเดินทางมาประเทศไทย และขอความร่วมมือในการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไทยกำลังอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ด้านหนึ่งคือเกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะกองทัพไทยกับกองทัพเมียนมามีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น หากยึดรูปแบบการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา จากอาเซียนเป็นบรรทัดฐาน เกรงว่าในอนาคตหากประเทศไทยมีการยึดอำนาจโดยกองทัพอีก ก็อาจจะถูกกดดันเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯในการกดดัน รัฐบาลทหารเมียนมาให้เปิดการเจรจากับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูกยึดอำนาจ และนำประเทศไปสู่ครรลองประชาธิปไตยเพื่อสันติสุขของเมียนมา ประเทศไทยก็อาจมีปัญหาถูกกดดันทางเศรษฐกิจ จากสหรัฐฯและยุโรป ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีดุลการค้าเกินดุล สหรัฐฯและสหภาพยุโรป แต่ขาดดุลการค้ากับจีนมาตลอด แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ประเทศไทยก็หวังจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นกอบเป็นกำ หากจีนยังคงห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้ การเปิดประเทศของไทยก็คงไม่มีผลบวกมากนัก ปัญหาเมียนมาจึงเป็นประเด็นที่ไทยต้องหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด รวมถึงการมีภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก แม้ประเทศไทยในอีกด้านจะเกรงใจจีน ที่หนุนหลังรัฐบาลทหารเมียนมา ตลอดจนเรายังมีผลประโยชน์จากการค้าชายแดนอยู่มาก แต่ไม่ว่าเมียนมาจะเป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการก็ตาม การค้าชายแดนก็ยังต้องพึ่งพาไทยอยู่มาก แต่มีประเด็นแรงงานจากเมียนมาที่อาจแตกต่าง กล่าวคือถ้าเมียนมาเป็นเผด็จการ ก็มีแนวโน้มว่าจะมีแรงงานเถื่อนทะลักเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ในทางตรงข้ามหากเมียนมาเป็นประชาธิปไตย และเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แรงงานจากเมียนมาก็คงทยอยกลับประเทศ โดยประเทศไทยก็คงต้องปรับบทบาทของตนเองไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น การตัดสินใจของรัฐบาลไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากวางหมากผิดอาจล้มทั้งกระดาน เพราะในขณะนี้สถานการณ์ภายในของเมียนมานั้น รัฐบาลทหารแม้มีกองกำลังที่มีอาวุธเหนือกว่ากองกำลังรัฐต่างๆที่กำลังสู้รบกับรัฐบาล เพื่อต่อรองให้เกิดการปกครองในรูปแบบสหภาพ คือ มีรัฐต่างๆที่ปกครองภายในรัฐของตน และมีการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลกลางที่รับผิดชอบด้านการต่างประเทศและการคลัง ตามแบบที่นายพลอองซาน เคยสัญญาไว้กับชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย แต่เมื่อนายพลอองซานถูกสังหาร สัญญานี้ก็ถูกเก็บไป จนมาถึงรัฐบาลอองซาน ชูจี ลูกสาวท่านนายพลอองซาน ก็มีการรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจา แต่ก็ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ทันใจชนกลุ่มน้อย ดังนั้นหากรัฐบาลสหรัฐฯและยุโรปเข้าทำการแทรกแซงโดยการสนับสนุนกำลังอาวุธให้กับชนกลุ่มน้อย ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ จนอาจเสียดินแดนบางส่วน ซึ่งมหาอำนาจทั้ง 2 ค่ายต่างให้ความสนใจ เพราะมันเป็นยุทธศาสตร์ที่ต่างก็ชิงความได้เปรียบกันอยู่ตามสภาพภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่สหรัฐฯมุ่งปิดล้อมจีนในมหาสมุทรอินเดีย ส่วนจีนก็ใช้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือ BRI เพื่อสร้างโครงข่ายในการปิดล้อมและทะลุทะลวงแนวของตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ รัฐบาลไทยที่อยู่ในระหว่างเขาควายจึงต้องละเอียดรอบคอบ และมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสินใจเหมือนที่เราไปสนับสนุน AUKUS ทั้งๆที่หลายประเทศอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ออกมาท้วงติงว่ามันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าและสงครามในภูมิภาคในอนาคต ซึ่งประเทศไทยคงหนีไม่พ้นอันตรายจากสงครามเป็นแน่แท้