โรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง) ห้องเรียนสาขาบ้านใหม่ไร่ป้า สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 เป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขื่อนวชิราลงกรณ์ ไม่สามารถสัญจรทางบกได้ จึงทำให้การเดินทางเพื่อไปจัดซื้อวัตถุดิบ มาเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาโรงเรียนได้ผุดไอเดียผลิตอาหารกลางวันครบวงจร เลี่ยงการติดต่อพบปะผู้คนในเมืองใหญ่แหล่งติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เน้นปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูกผักเป็นอาหารกลางวันครบวงจร ในโรงเรียนเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารของเด็กๆที่กำลังเรียนออนไซต์อยู่ในโรงเรียน นางสาวสราพร เจริญสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง) ห้องเรียนสาขาบ้านใหม่ไร่ป้า กล่าวว่า กว่าเราจะเดินทางไปฝั่งแต่ละครั้งเราใช้เวลานาน ผอ.และครู เราจึงระดมความคิดกันว่า ทำอย่างไร เราจะมีวัตุดิบครบวงจร ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนพันธุ์ข้าวมาจากศูนย์วิจัยข้าว ราชบุรี และสุพรรณบุรี จึงคิดว่าเราควรเริ่มจากการปลูกข้าวเป็นลำดับแรก เมื่อได้ข้าวแล้ว อย่างอื่นจึงค่อยๆ ตามมาโดยเน้นหลักความพอเพียง ทุกครั้งก่อนการเกี่ยวข้าว นักเรียนจะรำกระทบไม้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวไทย เชื้อสายกะเหรี่ยง เพื่อเล่าเรื่องราวการปลูกข้าวผ่านบทเพลงและท่ารำที่สอดคล้องจังหวะดนตรี สร้างความคลื่นเครงสนุกสนาน ในช่วงฤดูของการเก็บเกี่ยวที่ได้มาถึง ไม่เพียงการปลูกข้าว เท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีโรงเพาะเห็ด มีแปลงผักสวนครัว และเด็กๆก็สนุกสนานมากกับการจับปลาในบ่อ เพื่อมาประกอบอาหาร ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียนทุกวัน ด้านนายสมหมาย โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 กล่าวว่า วันนี้ได้มาร่วมเกี่ยวข้าว กับเด็กนักเรียนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ได้พูดคุยกับครูนักเรียนและผู้ปกครอง ผมขอชื่นชมในกิจกรรมที่โรงเรียนได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นวัตุดิบในอาหารกลางวัน อย่างครบวงจร นอกจากเป็นวัตถุดิบเพื่ออาหารกลางวันแล้ว ผลผลิตที่ได้ เด็กๆยังเอาไปจำหน่ายให้กับชุมชน นี่จึงเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักการใช้ชีวิตดำรงอยู่กับธรรมชาติด้วยศาสตร์พระราชา รู้จักการวางแผน รู้จักการหารายได้และรู้จักการแบ่งปัน โดยสำนักงานเขตพื้นที่ได้ให้การสนับสนุนให้โรงเรียนได้รับการจัดสรรเงินดอกผลกองทุน เพื่อโครงการอาหารกลางวัน ประจำปีงบประมาณ 2564 ในการบริหารจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนเพื่อระดมทุนให้การช่วยเหลือโรงเรียนในสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่เดินทางสัญจรอย่างยากลำบาก ครูธีรยุทธ วุฒิธรรมฐาน เล่าว่า ที่นี่ เราไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ โรงเรียนของเราจึงเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก เราจึงไม่สามารถที่จะโทรสั่งอาหาร หรือวัตถุดิบได้เหมือนที่อื่น เราจึงต้องผลิตกันเอง และได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ในการมาช่วยสอนเด็กๆปลูกข้าว สอนเกี่ยวข้าว ตีข้าว ก่อนนำไปสี ผลผลิตที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นอาหารกลางวันของเด็กๆเท่านั้น แต่วันนี้เราได้เห็นความสมัครสมานสามัคคีระหว่างโรงเรียนและชุมชน ภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด และการสนับสนุนเพื่อให้ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณมาช่วยเหลือจากเขตพื้นที่ฯ เป็นภาพความสำเร็จที่ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน การร่วมด้วยช่วยกันของคนในชุมชน ที่เกิดขึ้นจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้อย่างแท้จริง วรางคณา ดอกกฐิน สพป.กาญจนบุรี เขต 3