ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “โลกของความรัก หนักแน่นและมีคุณค่าด้วยสัญชาตญาณแห่งความรู้สึกรัก...มันคือความจริงอันวิจิตรตระการที่หยั่งลึกลงสู่ก้นบึ้งของหัวใจ ผ่านความเข้าใจอันลึกซึ้งและเป็นรูปรอยเสมอ ...น้ำหนักของความรู้สึกนี้เชื่อมโยงและพาด ผ่านอยู่กับกระแสของอารมณ์ที่ไหวเคลื่อน...ดื่มด่ำอยู่กับความนิ่งงันที่ไหวสะท้าน ตลอดจนความไหวสะท้านที่สาดต้องสู่นัยทางอารมณ์...เหตุดั่งนี้ความรักจึงเปรียบดั่งชีวิตของความเป็นสัจจะ ที่คละเคล้าอยู่ด้วยความอิ่มเต็มของเสน่หา และบทสะท้อนอันโศกเศร้าของความเป็นชีวิต” นี่คือผัสสะที่ได้รับจากสัมผัสรู้อันแนบเนาของหนังสือแห่งรักเล่มหนึ่ง...ในนาม “ทำไมต้องตกหลุมรัก” คำถามที่เป็นประหนึ่งการบอกเล่าอันเป็นปริศนา ที่จำเป็นต้องแจกแจงและค้นหาคำตอบที่จริงจังและงดงามของความเข้าใจแห่งกาลเวลา...ซึ่งมันคือกระจกเงาที่ส่องสะท้อนความหมายที่อยู่เหนือความหมายของชีวิต..โดยแท้.. “ความรักคือการให้อะไรบางอย่างที่คุณไม่มีแก่ใครบางคนที่ไม่ต้องการมัน”...สัญญะแห่งความหมายของการขาดพร่องนี้...หมายรวมถึงภาวะที่ไม่มีฝ่ายใดเลยที่จะทราบว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร/คนหนึ่งไม่มีสิ่งนั้น ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ปรารถนาในสิ่งนั้น...นี่คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า..ความรักไม่ใช่การสังเคราะห์หรือการสร้างสิ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่ประสานสอดคล้องกัน ให้ได้เห็นถึงข้อตระหนักที่ว่า... “ช่องว่างระหว่างคนสองคนจะมีอยู่เสมอ”...และนั่นย่อมแสดงถึงว่าแท้จริงแล้ว... “ความรักย่อมคือการแบ่งปันความขาดพร่องนี้ จะไม่มีวันที่ทั้งสองส่วนสามารถเติมเต็มกันและกันให้สมบูรณ์ได้”..ซึ่งก็จะส่งผลตามมาว่า..เราสร้างจินตนาการเพ้อฝันเพื่อตอบคำถามว่า...อีกฝ่ายต้องการอะไรจากเรา และเราเป็นอะไรต่อคนที่เรารัก...เนื่องจากว่า “มันไม่มีสูตรอะไรที่เป็นสากล”...หรือที่รับประกันได้ว่าจะเกิดความสัมพันธ์ทางเพศที่ประสานสอดคล้องกับคู่ของตน.. เหตุนี้จึงเกิดการอนุมานกันว่า..ความรักได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งเป็นความไร้ซึ่งความสอดคล้อง..และนี่เองที่หลายๆครั้งผู้มีความรักจึงต้องพบกับความกระวนกระวาย ภาวะที่อยู่ไม่เป็นสุข ตลอดจนความทุกข์ทรมาน...เช่นเดียวกับการปราศจากเหตุผลและความหมายที่ชัดเจน.. เหตุนี้จึงไม่น่าแปลก ที่ตามความคิดของ “ALAIN BADIOU” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่จะระบุว่า ...การเคลื่อนไหวของความรักนั้น...แท้จริงเป็นไปอย่างกะโผลกกะเผลก และคงดำรงอยู่เช่นนั้น ตราบใดที่คนสองคนไม่เข้าใจต่อกัน.. กันว่า..ความรักแบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ไม่ใช่ความรัก...และความเจ็บปวดนั้นถือเป็นส่วนที่ชอบธรรมของความรัก เนื่องเพราะ..หากเราไม่ต้องการการผจญภัยหรือเจ็บปวด นั่นแสดงว่าเราแค่ต้องการเพียงความโรมานซ์ ไม่ใช่ความรัก ...จริงๆแล้วมนุษย์เศรษฐกิจอย่างคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ รักใครไม่ได้...ดังนั้น การหลงรักในรูปลักษณ์ตัวเอง จึงกลายเป็นศัตรูที่แท้จริงของความรัก...นั่นจึงเป็นการตอกย้ำว่า.. “เราต้องกล้าหาญอย่างมากที่จะตกหลุมรัก” และยอมรับผลที่จะตามมา.. เนื่องเพราะ.. “รักเป็นเหตุการณ์” ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ที่ทำให้คู่รักยกย่องและสร้างความจริง ที่สำคัญขึ้นมาได้ กล่าวคือ...เราสามารถก้าวพ้นจากความเป็นหนึ่งไปสู่สอง ซึ่งใกล้เคียงกับการปฏิวัติ...ดังนั้นการหันหลังให้กับความรักหรือการปฏิเสธที่จะต่อสู้เพื่อความรัก จึงเป็นการต่อต้านการปฏิวัติ...เหตุนี้...ความรักจึงคือการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ซึ่งบางครั้ง ก็ทำให้เราเป็นนิรันดร์ เป็นอมตะ ซึ่งสิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามครรลองแห่งท่วงทำนองนี้..ล้วนคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในภวังค์แห่งความรัก... ส่วนเสี้ยวแห่งข้อแสดงความคิดเห็นจากคำนำของหนังสือเล่มนี้ โดยผู้เขียน “สรวิศ ชัยนาม” สื่อแสดงให้เห็นถึงเนื้อในในทางจิตวิญญาณแห่งการตีแผ่ ชีวทัศน์ในการสัมผัสรู้ต่อวิถีความรักของเขา...เป็นผลลัพธ์แห่งความเชื่อและพลังของการรับรู้ส่วนตัวที่ชวนตีความและพินิจพิเคราะห์...ซึ่งสามารถกระตุกเร้าภาวะแห่งความคิดคำนึงให้ทั้งเปิดกว้างและหยั่งลึกเข้าไปสู่นิวาสสถานแห่งการประจักษ์แจ้งภายใน..อันสมบูรณ์ “BADIOU” ได้เน้นย้ำถึงว่า..ความรักเป็นทั้งการพบกันโดยบังเอิญ...และทั้งการสร้าง..อันหมายถึงว่า.. “ความรักไม่อาจลดทอนเหลือแต่เพียงพบกันโดยบังเอิญครั้งแรก..เพราะมันคือการสร้าง ปริศนาในการคิดเรื่องความรักจึงอยู่ที่ ระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อให้ความรักเบ่งบาน...แท้จริงแล้วสิ่งที่น่าทึ่งไม่ใช่ความเคลิบเคลิ้มของตอนเริ่มต้นหรอก แน่นอนว่ามันทำให้เราเคลิบเคลิ้ม แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความรักเป็นการสร้างที่คงอยู่ยืนยาว จะพูดว่าความรักเป็นการผจญภัยที่เต็มไปด้วยความแน่วแน่ก็ไมผิด ด้านที่เป็นการผจญภัยเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ที่เป็นความจำเป็นไม่แพ้กันคือความจำเป็นที่ต้องแน่วแน่นี่แหละ..การยอมแพ้เมื่อเจออุปสรรคครั้งแรก เมื่อเห็นไม่ตรงกันจริงจังครั้งแรก มีแต่จะบิดเบือนความรัก รักแท้คือรักที่ชนะอุปสรรคที่ เวลา สถานที่ และโลกที่สร้างไว้ให้เราทุกครั้งไป โดยที่บางทีเราอาจเจ็บปวด” แนวคิดของ “BADIOU” เป็นแนวคิดที่ชัดเจน..ที่แสดงถึงว่า..ความรักเป็นเรื่องของความพยายาม มากกว่าจะเป็นเรื่องปาฏิหาริย์..ความรักเป็นงานระหว่างผลิตอยู่เสมอ..และอาศัย “แรงงานแห่งความรัก” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกและการไตร่ตรอง เหตุการณ์ในเชิงดราม่า และความคาดหวังต่างๆที่ต่อเนื่องกัน การลองสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นให้ดีขึ้น...แน่นอนว่ามันเป็นกระบวนการที่ยาก แต่ความยากนี้เองเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะ... “ความรักเป็นภาระหน้าที่ ที่ใช้ความสร้างสรรค์ และอะไรก็ตามที่ใช้ความสร้างสรรค์ย่อมไม่ง่าย...เช่นเดียวกับว่า..การสร้างระเบียบใหม่ขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากการปฏิวัติก็เป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้ความสร้างสรรค์” ดั่งนี้แล้ว ...ความรักจึงเป็นการสร้างสรรค์อะไรขึ้น...แท้จริง มันเป็นการสร้างฉากที่สอง(เรา)ได้ปรากฏขึ้นมา..นับเนื่องหลังจากที่ได้พบกันโดยบังเอิญ แล้วสิ่งที่ได้เกิดขึ้นตามมาคือการสร้างฉากที่สอง(เรา)ปรากฏนี่เอง แต่ก่อนที่จะสร้างฉากที่สองเราปรากฏขึ้นมาได้ ....ย่อมจะต้องมีการประกาศความรักเสียก่อน..เพราะจากมุมมองแบบวัตถุนิยม ความรู้สึกของเรามีภาษาที่เป็นสื่อกลาง...ดั่งนี้ การได้ยินคำว่า “ผมเป็นห่วงคุณนะ” จากคนที่คุณรัก จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างไปจาก “ผมหลงรักคุณหัวปักหัวปำ” อย่างสิ้นเชิง... คุณอาจจะแอบรักใครอยู่ แต่แล้วความรักของคุณก็แอบเป็นแค่ความสุขใจที่มาจากความหลงตัวเอง..และหากถ้าคุณได้ประกาศความรักของคุณต่อคนคนหนึ่งและถูกปฏิเสธ อย่างน้อยคุณก็จะได้เผยความรู้สึกส่วนตัว อันหมายถึงความรู้สึกที่ซ่อนลึกที่สุดออกมา..ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเผยความเปราะบางต่อเธอหรือเขา อันเป็นการแสดงออกว่า..คนที่เป็นที่รักมีค่ากับคุณมากแค่ไหน..เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการพบกันโดยบังเอิญไปสู่การสร้างฉากที่สอง(เรา)ปรากฏ...เป็นการก้าวจากความเป็นตัวคนเดียวสู่ความเป็นสอง(เรา)และจากสิ่งที่เกิดขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวไปสู่สิ่งที่ยั่งยืน... จะเห็นได้ว่าที่สุดแล้ว ความรักได้กลายเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจพอๆกับสิ่งที่สร้างความทรมาน.... ดังเช่นตัวละครเอก “Hazel” ในภาพยนตร์ “The Fault in Our Star” ที่ได้เผยถึงความเข้าใจและบอกว่า “เราเลือกไม่ได้ว่าจะเสียใจหรือเปล่า แต่เลือกได้ว่า ใครจะเป็นคนทำให้เราเสียใจ และฉันก็ชอบสิ่งที่ฉันเลือก” นี่จึงเป็นนัยที่แสดงถึงว่า ความรักคือการขอบคนที่จะทำให้เราเจ็บ ซึ่งเราได้เลือกมาเองกับมือ...ดังนั้นมันจึงเป็นอย่างที่คนเขียน “An Imperial Affliction” หนังสือเล่มโปรดของ “Hazel” ที่ได้แสดงความคิดเอาไว้ว่า.. “ความเจ็บปวด ร้องเรียกให้เรารู้สึก”...ซึ่งแสดงภาวะถึงว่า..ประเด็นหลักของความรัก คือ ไม่ใช่ “การป้องกันไม่ให้ตนเองเจ็บปวด”...ทั้งนี้ก็เพราะว่า.. “ความทุกข์ทรมานเป็นส่วนประกอบที่สมควรต้องมี” ของความรัก และเนื่องจากความเป็นได้ที่จะต้องเจ็บเป็นอีกด้านหนึ่งของการข้ามพ้น..ดังคำกล่าวของ “CS.Lewis” ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า... “การได้รักคือการได้ปล่อยให้ตัวเองเปราะบาง” แต่ในทางตรงข้าม โรแมนซ์กลับนำเสนอภาพชวนฝันของความรัก อันหมายถึง “ความรักที่ปราศจากการกระตุกอย่างทรมาน” เหตุนี้จึงก่อให้เกิดปัญหาล้ำลึกในตัวตนของคนที่มีความรัก..โดยคนส่วนใหญ่ จะเกิดความกลัวในการตกหลุมรักมากขึ้นๆ...และเริ่มมองหาความรักที่ราคาถูกและปราศจากความเสี่ยง...เรากำลังแทนที่ความรักด้วยโรแมนซ์ ซึ่งหมายความว่าความรักกำลังตกอยู่ในอันตราย แล้เราก็อาจมองไม่เห็นปัญหานี้ด้วยซ้ำ.. “Badiou” ได้ยกตัวอย่างสโลแกนที่ชวนตกใจต่างๆ บนโปสเตอร์โฆษณาเว็บไซต์หาคู่เดตทางอินเตอร์เน็ตในกรุงปารีส เช่น “มีความรักโดยไม่ต้องตกหลุมรัก”/ และ “พบกับความรักแบบสมบูรณ์แบบโดยไม่ต้องทุกข์ทรมาน”....ฝันร้ายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรกัน??? ในส่วนที่สองของหนังสือเล่มนี้...ผู้เขียนได้นำปรัชญาความรักของ “Alan Badiou” มาใช้กับภาพยนตร์เรื่อง “The Lobster” ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชาวกรีก “Yorgos Lantimos” ที่ออกฉายเมื่อปีค.ศ.2015/ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตลกร้ายดิสโทเปียแนวแอบเสิร์ดที่แสดงถึงภาวะไร้สาระและกระตุกซ้ำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันคู่รักและวิธีที่สังคมปฏิบัติต่อคนโสด โดยการขยายกระแสหลักหรือแนวโน้มที่เป็นอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันให้เกินจริง และนำไปสู่บทสรุปตามตรรกะของเรื่อง ทั้งนี้เพื่อ...เผยให้เห็นความเป็นจริงและชีวิตประจำวันของเราให้มากขึ้น..ซึ่งถ้าว่ากันจริงๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของคนเรา..ดังที่ “Lanthimos” ได้ระบุเอาไว้ว่า.. “คำถามเหล่านี้บางประการเกี่ยวข้องกับวิธีการสร้างสังคม และวิถีปฏิบัติที่เราเคยชิน ความคาดหวังและวิธีปฏิบัติต่อคนอื่น...เราเกิดมาบนโลกใบนี้ ได้รับการศึกษามาบางแบบ และเคยชินกับบางสิ่งบางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ควรที่จะตั้งคำถามได้ว่า.บางทีคนเราก็น่ามีอิสระที่จะคิดเองได้..ว่าอะไรที่เหมาะกับตนเองมากกว่านี้หรือเปล่า..ผมก็หวังว่าหนังจะทำแบบนี้ คือตั้งคำถามต่างๆ..การแข็งข้อไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป การทำตามกฏก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้องเสมอไปเช่นกัน คุณต้องคิดเอาเองและหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองให้เจอ” ปรัชญาความรักของ “Badiou” มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการตอบคำถามหลายๆประการ.. อีกทั้งยังช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจ “The Lobster” อย่างลงลึกและแปลกใหม่ อันจะบังเกิดเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้เข้าใจปรัชญาความรักของ “Badiou”ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น.. “ถ้าจะว่ากันอย่างเป็นทางการ มันอาจดูเหมือนตรงข้ามกัน...ทางเลือกทั้งสองต่างไร้ซึ่งความรักพอๆกัน ทางเลือกที่แท้จริงซึ่งภาพยนตร์เสนอแต่ไม่แสดงให้เห็นก็คือความรัก การเลือกความรักหมายความว่า...เมืองและป่าที่จริงแล้วเป็นเมืองป่าต่างหาก..ไม่ใช่ว่าสิ่งหนึ่งคือทางเลือกของอีกสิ่ง” “ทำไมต้องตกหลุมรัก” คือหนังสือที่ตรวจวัดสัมผัสแห่งการตระหนักรู้ภายในตัวตนที่ทั้งคว้านลึกและแหลมคม มันคือข้อยืนยันแห่งรูปรอยของอารมณ์อันเร้นซ่อนของชีวิตที่ได้กลับกลายเป็นปรากฏการณ์ของโลกวิสัยเชิงซ้อนที่ต้องรับรู้และเรียนรู้ผ่านการตีความและแปลความเฉพาะตัวที่สมบูรณ์ทั้งด้วยข่ายใยแห่งปัญญาญาณและมรรคาแห่งการหยั่งเห็นด้วยความเข้าใจอันสมบูรณ์...มีทั้งความมืดดำและสุกสว่างปรากฏชัดอยู่ในหนังสือเล่มนี้...ขึ้นอยู่กับรอยทางสัมผัสของผู้อ่านว่า..จะพานพบมันในมิติแห่งเจตจำนงไหน...ก็เท่านั้น!!!. “ในโลกทุกวันนี้..คนมักคิดกันทั่วไปว่าปัจเจกบุคคลเอาแต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว...ความรักจึงเป็นยาถอนพิษให้กับสิ่งนี้....และตามมุมมองนี้ รักแท้จึงมีลักษณะด้านทุนนิยมอยู่ด้วย../ซึ่งในสังคมทุนนิยม...ไม่มีอะไรที่เรารักมากที่สุด...เนื่องเพราะ ทุกอย่างมีราคาของมัน...เหตุนี้ อะไรๆ ก็ต้องแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นได้...!”