ถ้าพูดถึง "มะเร็งเต้านม" หลายคนนึกถึงภาพการสูญเสียเต้านม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องสูญเสียเต้านมเสมอไป เราสามารถรักษาโดยการเก็บเอกลักษณ์ของความเป็นผู้หญิง และเต้านมที่สวยงามเอาไว้ได้ มะเร็งเต้านมถือว่าเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งในผู้หญิง โดยอัตราการเป็นในปัจจุบันพบว่าทุกๆ ผู้หญิง 8 ถึง 10 คน จะพบผู้หญิง 1 คนเป็นมะเร็งเต้านม ในขณะเดียวกันผู้ชายก็มีโอกาสเป็นได้ แต่ว่าพบในอัตราที่น้อยกว่ามาก โดย 100 คน จะเป็นเพียง 1 คน ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมอีกหลายเรื่องที่หลายคนไม่ทราบและสงสัย นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเต้านมและเสริมสร้างเนื้อเต้านม ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลนวเวช จึงได้มาไขข้อข้องใจให้หายสงสัย ลองไปติดตามอ่านกัน นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช * สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมคืออะไร ปัจจุบันเราพบว่าสาเหตุที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือพันธุกรรม เพียงแค่ 20% ส่วนอีก 80% เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นมาทีหลัง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการใช้ชีวิต * อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ กลุ่มอาการที่ควรจะมาพบแพทย์โดยด่วน คือ - คลำเจอก้อนที่บริเวณเต้านม - มีแผล ผื่น ที่ไม่หาย บริเวณลานหัวนม หรือหัวนม - มีเลือดออกจากหัวนม หรือมีน้ำผิดปกติออกจากบริเวณหัวนม - เต้านมบวมขึ้น บิดเบี้ยว บวมแดง - มีอาการเจ็บ ลักษณะเจ็บผิดปกติ ไม่เคยเจ็บแบบนี้มาก่อน ลักษณะพวกนี้จำเป็นจะต้องมาพบแพทย์โดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรอให้เกิดอาการ ควรมารับการตรวจคัดกรองตามโปรแกรมที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้เจอโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ผลการรักษาดี มีประสิทธิภาพมากที่สุด * แนวทางการตรวจเต้านมเป็นอย่างไร โดยทั่วไปการคัดกรองมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองกับแพทย์ด้วยการตรวจร่างกาย และ/หรือการทำอัลตราซาวด์เต้านม (Breast ultrasound) ทุก ๆ 3 ปี หลังจากนั้นพออายุ 35-40 ปี แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ซึ่งปัจจุบันมีถึง 3 มิติ (3D Mammogram and Breast ultrasound) อย่างน้อย 1 ครั้ง พออายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี * การรักษามะเร็งเต้านมมีกี่วิธี การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก ไม่จำเป็นจะต้องสูญเสียเต้านมเสมอไป แต่รูปแบบทั่ว ๆ ไปของการรักษามะเร็งเต้านม ประกอบไปด้วย (1) การผ่าตัดแบบ Mastectomy คือการตัดเต้านมออกทั้งเต้า เป็นการผ่าตัดที่คนไข้ผู้หญิงทุกคนค่อนข้างกังวลกับรูปแบบการผ่าตัดแบบนี้ (2) ปัจจุบันนี้เราสามารถที่จะพัฒนา การผ่าตัดรักษาให้เทียบเท่ากันได้ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียเต้านม เรียกการผ่าตัดนี้ว่า Nipple Sparing Mastectomy with immediate reconstruction โดยเก็บทั้งหัวนม ลานหัวนม และผิวหนังของเนื้อเต้านมเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คว้านเนื้อเต้านมที่อยู่ทางด้านในออกทั้งหมดแล้วทำการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่โดยทันที ทุกอย่างจะเสร็จภายในการผ่าตัดหนึ่งครั้ง จะได้เต้านมที่มีรูปร่างสวยงามเหมือนเดิม (3) วิธีสุดท้ายคือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้า หรือที่เรียกว่า Breast conserving surgery การผ่าตัดแบบนี้ก็คือ การคว้านก้อนมะเร็งเต้านมออกอย่างกว้างๆ โดยเก็บเนื้อเต้านมส่วนใหญ่ของคนไข้เอาไว้ หลักการก็คือ เนื้อเต้านมส่วนใหญ่ของคนไข้ที่เก็บเอาไว้จะต้องยังคงรูปให้ความสวยงามได้ในระดับหนึ่ง ถึงจะเลือกทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ * มะเร็งเต้านมสามารถให้นมบุตรได้หรือไม่ สุภาพสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านมสามารถให้นมบุตรได้ ไม่ต้องมีข้อกังวลใด ๆ แต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแผนก่อน * เสริมหน้าอกทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือ การเสริมเต้านมในปัจจุบัน ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับชนิดของตัวซิลิโคน (Silicone) หากใช้ซิลิโคนที่คุณภาพไม่ดี หรือคุณภาพต่ำ จะมีความเสี่ยงต่อการรั่วซึมได้ค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อเกิดการรั่วซึมจะก่อให้เกิดมะเร็งในภายหลังได้ แม้ในปัจจุบันซิลิโคนมีการพัฒนาขึ้นแต่กลับพบว่า ถึงแม้ว่าไม่ได้รั่วหรือไม่ได้แตก แต่ยังกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมอีกชนิดหนึ่งได้ที่เรียกว่า Lymphoma ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ เพราะฉะนั้นคนไข้ที่เสริมเต้านมมาแล้ว จำเป็นจะต้องมีการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมสำหรับผู้เสริมเต้านม คือ 3D Mammogram (Implantation) and Breast ultrasound กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นประจำสม่ำเสมอทุก ๆ ปี * รักษามะเร็งเต้านมจำเป็นต้องสูญเสียเต้านมหรือไม่ ถึงแม้มะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตในผู้ป่วยหญิงมากที่สุด และทำให้บางครั้งจำเป็นจะต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า ซึ่งการรักษาแบบนี้เป็นรูปแบบการรักษาที่ผู้หญิงทุกคนยังคงกังวลอยู่ แต่ความจริงแล้วสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาในรูปแบบของการตัดเต้านมออกได้ โดยจะต้องตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการมาตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามระยะทุก ๆ 1 ปี ควรทำแมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ (3D Mammogram and Breast ultrasound) กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการรักษามะเร็งเต้านม ด้วยการตัดเต้านมออกทั้งเต้าไปได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร.02-483-9999 หรือ www.navavej.com