บทความ: ราษฎรโครงการห้วยองคตฯ จ.กาญจนบุรี วันนี้คุณภาพชีวิตดีและมั่นคงภายใต้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ นายปัญญา ทัศนบรรจง ที่ปรึกษาโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้กับราษฎรอำเภอหนองปรือ ทำให้ผืนป่าที่ถูกบุกรุกทำลายจนเสื่อมโทรมกลับมาอุดมสมบูรณ์ ที่ผู้คนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดียวกันได้ นับเป็นต้นแบบให้ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปแก้ไขในพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันได้เป็นอย่างดี โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ประมาณ 20,625 ไร่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พระฤาษี – เขาบ่อแร่ โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อจัดทำโครงการตั้งแต่ปี 2534 – 2564 ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านห้วยแม่ระวาง หมู่ 4 บ้านม่วงเฒ่า หมู่ 5 บ้านบารมี และหมู่ 7 บ้านห้วยองคต มีการดำเนินงานสนองพระราชดำริจากส่วนราชการ ภาคเอกชนและราษฎร โดยการจัดตั้งเป็นคณะทำงานมีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการแผนงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและต่ำคล้ายลูกคลื่นในหุบเขามีภูเขาล้อมรอบ มีลำน้ำหลายสายไหลลงสู่ใจกลางพื้นที่จนเกิดลำห้วยลำตะเพิน และจากการใช้พื้นที่เพื่อทำกินของราษฎรในอดีตแบบพืชเชิงเดี่ยวจำพวกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมีการแผ้วถางเพิ่มพื้นที่อย่างต่อเนื่องยังผลให้ลำห้วยตื้นเขินจากตะกอนดิน ในฤดูฝนกระแสน้ำไหลบ่าจากภูเขารอบข้างอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ในวงกว้าง “ก็มีความลำบากเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ทางการจะเข้ามาพัฒนาก็ยาก เพราะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ สาธารณูปโภคต่างๆ ไม่มี ในระหว่างนั้นมีพระภิกษุจากวัดป่าชัยรังสี จังหวัดสมุทรสาคร ชาวบ้านเรียกว่าหลวงตาจันทร์ คเวสโก มาที่นี่เพื่อปลูกป่าและขุดสระน้ำสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลวงตาจันทร์มีลูกศิษย์มากอยู่แทบทุกจังหวัดทั่วสารทิศ ก็เป็นแรงดึงดูดและความศรัทธาให้เกิดความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะจากภาคประชาชนให้มาร่วมพัฒนาพื้นที่ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้รับสั่งกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงาน กปร. ในขณะนั้น พร้อมกับอธิบดีกรมชลประทานว่าให้มาประสานงานช่วยเหลือการพัฒนากับหลวงตาจันทร์ หลังจากนั้นพระองค์พระราชทานพระราชดำริให้จัดหาที่ดินเพื่อจัดทำโครงการฯ ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในบริเวณนี้ และพระองค์ได้พระราชทานชื่อโครงการว่าห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นายปัญญา ทัศนบรรจง กล่าว ที่ปรึกษาโครงการห้วยองคตฯ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งกับส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน 3 ประเด็นคือ 1)ให้ประสานงานช่วยเหลือพระอาจารย์จันทร์ 2)ให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณลำห้วยลำตะเพิน และลำห้วยสาขา และ 3) ให้มีการปลูกป่าบริเวณริมอ่างเก็บน้ำ พระองค์ทรงเน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยให้ราษฎรได้อยู่ทำกินร่วมกับการคงอยู่ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกันไม่เบียดเบียนกัน ซึ่งจะทำให้ทุกชีวิตมีความผาสุข มีการจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรครอบครัวละ 8 ไร่ สำหรับอยู่อาศัยอีก 1 ไร่ หากเป็นครอบครัวใหญ่มีบุตรหลายคนจะได้ที่ทำกินเพิ่มเป็น 16 ไร่ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนชัดเจน ส่วนใดมีป่าคงเหลืออยู่ก็จะกันเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และร่วมกันฟื้นฟูปลูกป่าเพิ่ม ที่ใดเหมาะทำกินหรืออยู่อาศัยมีการจัดแบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน โดยรวมเป็นที่อยู่อาศัยประมาณ 850 ไร่ พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 7,200 ไร่ พื้นที่ปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ประมาณ 7,000 ไร่ และพื้นที่ส่วนกลางเพื่อสาธารณูปโภคสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำคลองส่งน้ำ สถานที่ราชการ หรือวัดและสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ประมาณ 5,575 ไร่ มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ราษฎรมีความรู้ในการทำกิน ลักษณะพึ่งตนเองควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตลอดถึงวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ “ในฐานะพสกนิกรที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน ทุกคนตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าได้รับความอนุเคราะห์ ความช่วยเหลือในเรื่องที่ดินทำกินทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากที่ไม่มีอะไรเลย ถือได้ว่าที่นี้เป็นดินแดนที่มีคุณภาพชีวิตมีสวัสดิการอย่างสมบูรณ์ มีถนนหนทางมีไฟฟ้า ได้รับการพัฒนาส่งเสริมอาชีพและมีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัยที่สามารถตกทอดไปสู่ลูกหลานเป็นมรดกได้ ทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และตั้งใจจะสืบสานและต่อยอดแนวทางที่ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากโครงการฯ นี้ให้ยั่งยืน และเป็นต้นแบบของชุมชนอื่นตลอดไป” นายปัญญา ทัศนบรรจง กล่าว