แม้ว่าทุกวันนี้สังคมจะเริ่มเปิดกว้าง มีความเข้าใจ และยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น หากแต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศก็ยังคงดำรงอยู่
เยาวชน-คนรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงได้จัดตั้งกลุ่มขับเคลื่อนทางสังคมขึ้นในนาม “TU Changemaker” หวังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality)
บัซซี่-ศิวกรณ์ ทัศนศร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่ในตำแหน่ง อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประจำปีการศึกษา 2564 ในฐานะหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกลุ่ม TU Changemaker เล่าว่า กลุ่ม TU Changemaker เป็นการรวมตัวของนักศึกษาที่มีความสามารถในด้านต่างๆ ทั้งการจัดการ กลยุทธ์การตลาด การเมือง เข้ามาเป็นคณะทำงาน โดยมี หมอแอน - ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มธ. พี่นุช - น.ส.อุไรวรรณ ชาติทอง และ พี่ขวัญ-มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการงานสื่อสารองค์กรสหประชาชาติ และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN) คอยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษา
ภารกิจแรกที่กลุ่ม TU Changemaker ทำคือ การเวิร์คชอป ปรับสภาพจิตใจของกลุ่ม LGBT ให้พวกเค้าได้มีพื้นที่ระบาย ให้ทุกคนเห็นว่าไม่ใช่ตัวเองคนเดียวที่มีปัญหา พยายามให้ทุกคนได้มองโลกในแง่ดีขึ้น ละทิ้งปมในอดีตเพื่อเริ่มต้นใหม่ในชีวิตที่ดี โครงการถัดมาคือเรื่องผู้หญิงท้องในวัยเรียน ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้หญิงท้องในวัยเรียนไม่จำเป็นต้องดรอปเรียน อยากให้สังคมมองว่าคนท้องไม่ได้ผิด เมื่อถึงเวลาก็ลาไปคลอดแล้วกลับมาเรียนต่อได้
“เรื่องท้องในวัยเรียน เราทำร่วมกับดาวเดือนของมหาวิทยาลัย ทำจนเป็นรัศมีวงกว้าง ขยายใหญ่ขึ้น และได้จับมือร่วมกับ UN Women พูดถึงเรื่องของสิทธิสตรีและแรงงานข้ามชาติ ตรงนี้ทำให้นักศึกษาเห็นภาพว่าโลกไปถึงไหนแล้ว ฟีดแบคค่อนข้างดี พัฒนาวงกว้างขึ้นในแง่ของความคิดการให้ความรู้ สื่อต่างชาติให้ความสนใจ นำไปสู่การประกาศปฏิญญาความร่วมมือเรื่องความเสมอภาคทางเพศ และต่อต้านการถูกคุกคามทางเพศ” บัซซี่ เล่า
จุดเริ่มต้นของกลุ่ม TU Changemaker มาจากนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่มีใจอยากทำงาน อยากเปลี่ยนแปลงสังคม และเริ่มขยายวงไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้ว 173 ราย แม้ปัจจุบันจะยังขับเคลื่อนแค่ในระดับมหาวิทยาลัย แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของกลุ่ม คือการทำงานในระดับนานาชาติ
“บัซซี่” พูดถึงจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมว่าเกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวในวัยเด็กที่ได้เห็นความรุนแรงและการใช้กำลังของเพศชายบ่อยครั้ง แต่ส่วนตัวโชคดีที่ในครอบครัวไม่มีสิ่งเหล่านั้น จึงอยากให้เพื่อนๆ หรือเด็กรุ่นเดียวกับเราได้รับความโชคดีเหล่านี้ไปด้วย
“เราเริ่มต้นจากไม่รู้อะไร ค่อยๆ ขยับขยาย จนได้มีโอกาสเป็นกระบอกเสียงของนักศึกษาคือเป็นโฆษกแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีโอกาสเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษา มธ. ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจทางเพศ และยังเคยได้รับรางวัล Equity Award 2020 จากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยตำแหน่งและรางวัลเหล่านี้ช่วยให้เราใช้เป็นภาพลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์ในการพูดถึงเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้” บัซซี่ ระบุ
แม้ว่าการขับเคลื่อนที่ผ่านมาจะทำให้สถานการณ์การคุกคามทางเพศ และความเสมอภาคทางเพศดีขึ้น แต่ปัญหายังไม่หมดไป ทัศนคติชายเป็นใหญ่-ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายยังคงมีอยู่ “บัซซี่” มองว่า จำเป็นต้องมีการทำงานที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จึงเตรียมส่งไม้ต่อให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อภารกิจในระดับมหาวิทาลัย พร้อมตั้งเป้าขยายการรับรู้ให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
“เด็กรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ในฐานะรุ่นพี่เราต้องให้โอกาสเค้าได้คิด-ได้พูด ข้อเสียของเด็กรุ่นใหม่คือทำอะไรไวเกิน ไม่ฟัง ชอบเถียง แต่ข้อดีก็คือเขามีความคิดที่ดี ถ้าให้เขาได้มีเวทีได้พูด ได้เสนอไอเดีย แล้วเรานำมาเอามาพัฒนาต่อ ก็จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมได้” บัซซี่ เชื่อเช่นนั้น
สำหรับปัญหาการถูกคุกคามทางเพศและความเสมอภาคทางเพศซึ่งเป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในสังคม “บัซซี่” มองว่า ในวันนี้ยังมีคนผลักดันน้อยอยู่ อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นถึงปัญหานี้และร่วมกันแก้ไขปัญหา
“อย่ามัวเสียเวลาทะเลาะกันเอง สิ่งที่เราทำคือจับมือแล้วเดินไปด้วยกัน แก้ไขปัญหาไปด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยและทุกคนควรคำนึงถึง” บัซซี่-ศิวกรณ์ ทัศนศร กล่าวทิ้งท้าย