น้ำมูลล้นตลิ่งหลากท่วมนาข้าวที่กำลังออกรวง 6 หมู่บ้าน อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ จมเสียหายเกือบ 3 พันไร่ ผญบ.เร่งลงพื้นที่สำรวจรายงานอำเภอ จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือ พร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำพบปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน ชี้สภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะถูกน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี จนหลายครัวเรือนต้องปรับตัว (16 ต.ค.64) สถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่านอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากอิทธิพลของพายุ และมวลน้ำเหนือที่ไหลมาจากจ.นครราชสีมา ล่าสุดได้เอ่อล้นตลิ่งหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะนาข้าวที่กำลังออกรวงใกล้ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ของเกษตรกรในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ต.แคนดง อ.แคนดง คือ บ้านนาแซง , โคกเก่า , โนนกลาง , ม่วงน้อย , ยางทะเล และบ้านม่วงทะเล ซึ่งอยู่ติดริมน้ำจมแล้วเกือบ 3,000 ไร่ หากระดับน้ำไม่ลดลงภายใน 1 สัปดาห์ก็คาดว่าจะได้รับความเสียหายทั้งหมด นอกจากนี้น้ำยังได้เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ศาลากลางหมู่บ้านรวมกว่า 10 หลังคาเรือน ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ก็ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อรายงานทางอำเภอ และจังหวัดทราบ เพื่อที่ได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือทั้งชาวบ้าน และเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป นายไชโย ศรีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านโคกเก่า บอกว่า สภาพพื้นที่ของทั้ง 6 หมู่บ้านเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปีทั้งบ้านเรือน และนาข้าว จนหลายครัวเรือนต้องปรับตัวด้วยการถมบริเวณรอบบ้านให้สูงขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าตัวบ้าน แต่นาข้าวก็ไม่สามารถเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมได้ โดยปีนี้น้ำได้หลากเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังออกรวงในพื้นที่ 6 หมู่บ้านแล้วเกือบ 3,000 ไร่ ซึ่งหากน้ำไม่ลดลงภายใน 1 สัปดาห์ก็จะได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้านก็ได้ออกสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนแล้ว อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์น้ำมูลยังพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกวันเฉลี่ยวันละ 2 เซนติเมตร ก็ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือตลอด ด้านนายสมพงษ์ ไกรงาม ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาแซง ก็บอกว่า ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา และมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว และคาดว่ามวลน้ำจากนครราชสีมา จะยังคงไหลมาสมทบลงลำน้ำมูลทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ก็ได้หมุนเวียนกันลงพื้นที่ติดตามระดับน้ำทุกวันเพื่อรายงานทางอำเภอทราบ และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้เฝ้าระวัง ส่วนนาข้าวของเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมเสียหายก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชดเชยเยียวยา และช่วยเหลือส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรังเพื่อชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายด้วย