การเรียนภาษาหลายคนคิดว่าได้เพียงแค่ความรู้ความเข้าใจด้านภาษานั้นๆ จนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาที่เรียน แต่ในทางกลับกันการเรียนภาษาสำหรับคนที่เลือกเรียนภาษา เชื่อเสมอว่าเรียนภาษาได้มากกว่าที่ใครหลายคนคิด เราไปพูดคุยกับหนึ่งในนักศึกษาที่เลือกเรียนด้านภาษาว่าเขาจะมีความสามารถอะไรบ้าง กับนาย กรวิชญ์ ลอไพบูลย์ หรือ กิสโม่ ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักศึกษาทุนบริการสังคม (ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) จบการศึกษามัธยมปลายรูปแบบการศึกษาที่เรียกว่า สถาบันการศึกษาทางไกล (DEL)
จะเรียนภาษา ทำไมต้อง ม.รังสิต
การเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต นั้นมีหลายปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนที่นี่ กิสโม่ได้เล่าว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ทำให้กิสโม่เกิดความประทับใจมหาวิทยาลัยรังสิต เนื่องจากว่ากิสโม่ได้ทุนบริการสังคมจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และตนเลือกรับทุนนี้ เพราะเห็นว่า ท่านให้ความสำคัญด้านความสามารถของนักศึกษามากกว่าการเก่งด้านการเรียนเพียงด้านดียว โดยส่วนตัวคิดว่า “มหาวิทยาลัยรังสิตไม่ทำตามขนบที่เชื่อกันไปเองว่ามีประโยชน์แต่พิสูจน์ไม่ได้ จากที่เคยเรียนที่อื่นมา จะมีเรื่องของรูปแบบที่ตายตัวและโบราณ รู้สึกว่าที่ม.รังสิตจะมีรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่ไม่เก่งให้รู้ ส่วนเด็กที่เก่งอยู่แล้วให้รู้มากขึ้น”
หัวใจของการเรียนภาษาให้ได้มากกว่าหนึ่ง
การเลือกเรียนภาษาของกิสโม่มาจากความถนัดของตนเองที่สนใจในการใฝ่รู้ที่จะเรียนภาษา ส่วนสำคัญของการเรียนภาษา และการทำให้ภาษาของตนเองพัฒนาได้ดีคือการมีแรงบันดาลใจ กิสโม่เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่มีความสามารถด้านภาษามากกว่า 1 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย กิสโม่บอกกับเราว่า แต่ละภาษาที่ได้มานั้นมาจากการเรียนในม.รังสิตแทบทั้งหมด แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ การได้มาจากการเกิดแรงบันดาลใจ กิสโม่เล่าว่าในส่วนของภาษาญี่ปุ่นนั้นมาจากการที่จน ได้มีโอกาสรู้จักกับคนญี่ปุ่น ทำให้ตนเกิดความพยายามที่อยากจะใฝ่รู้ ใฝ่เรียนในภาษา เพื่อให้ตนเองนั้นพูดได้ ในความที่ภาษาญี่ปุ่นมีรากศัพท์เชื่อมโยงมาจากภาษาจีน จึงทำให้คิดว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่มีประโยชน์ก็เลยเลือกที่จะเรียนรู้ภาษาจีนเอาไว้
ส่วนภาษาฝรั่งเศสเรียนรู้มาได้จากการเรียนที่ ม.รังสิต เพราะว่าการเลือกวิชาโท อาจารย์เห็นถึงความสามารถด้านภาษา จึงแนะแนวทางการเรียนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาอังกฤษ จะทำให้ภาษาอังกฤษของกิสโม่ดียิ่งขึ้น กิสโม่ยังบอกอีกด้วยว่า “การจะเรียนภาษาให้เข้าใจต้องอาศัยการเชื่อมโยง ให้ภาษาช่วยกันเอง ลองนึกถึงเวลาเราคนไทยเรียนภาษาลาว มันจะมีความง่ายมาก มันเหมือนกับว่าเราจะฟังออกไปสักครึ่งนึงแล้ว เพราะภาษามีความใกล้เคียงกันและการคิดแบบเดียวกับที่เจ้าของภาษาคิด การเรียนภาษาจะส่งผลต่อความคิดด้วย เราเรียนภาษาไม่ใช่ได้แค่ภาษา แต่เราต้องเรียนรู้วัฒนธรรมเจ้าของภาษาด้วย มนต์เสน่ห์ของภาษามันคือการหยุดใช้ไม่ได้ จึงทำให้เรามีพัฒนาการที่เร็วขึ้นได้และเป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนที่เรียนด้านภาษา”
ความสามารถด้านภาษาโดดเด่น…งานอดิเรกสุดปัง !
กิสโม่บอกกับเราว่า โดยปกติเป็นคนชอบเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกมาก ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สามารถคลายเครียดจากการเรียนหรือการทำกิจกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัย การเล่นดนตรีกิสโม่ไม่ได้เล่นเป็นอาชีพ เป็นคนชอบเล่นดนตรี ชอบแต่งเพลง และตอนนี้กิสโม่กำลังทำช่องยูทูปร่วมกับเพื่อนที่มีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป มีความคิดที่จะทำเกี่ยวกับ Vlog ไลฟ์สไตล์และคอนเท้นต์ที่เกี่ยวกับการสอนภาษาในเรื่องของรากศัพท์
เส้นทางหลังเรียนจบปริญญาตรี
ในตอนแรกกิสโม่เคยคาดหวังว่าเรียนศิลปศาสตร์เอกอังกฤษเพื่อเป็นครู แต่ปัจจุบันเบนเข็มชีวิต มองสายงานด้านอาชีพการทูต เพราะว่าในตอนแรกกิสโม่ตั้งใจจะไปฝึกงานที่ฝรั่งเศสและคาดหวังว่า เรื่องทุนการศึกษาปริญญาโทที่ประเทศโมร็อคโคเป็นทุนผ่านสถานทูต และอีกหนึ่งอาชีพที่สนใจชื่ออาชีพว่า เลซอง (Liaison) คืออาชีพที่เป็นการรวมระหว่างล่ามกับทัวร์และบริการ เลซอง(Liaison) มีหน้าที่เข้ารับแขกต่างประเทศที่เป็นผู้ใหญ่ระดับคณะบดี อธิการบดี ซึ่งเรารู้จักอาชีพนี้มาจากการทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย
การเรียนที่ดีต้องมีประสบการณ์
กิสโม่พูดกับเราว่า “ยอมรับว่าที่มหาวิทยาลัยรังสิต ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้แค่การเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วจบ การเป็นนักศึกษาทุนของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หรือสำหรับคนที่เป็นเด็กทุนอื่นๆ อีก เชื่อว่า นักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้และได้สัมผัสกับคำว่า “ม.รังสิต ที่นี่สอนประสบการณ์” กันมาหมดแล้ว การเป็นนักศึกษาทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงแค่การเข้าไปนั่งฟัง แต่เป็นการเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมต่างๆ การมีบทบาทในการทำงานที่เราสนใจกับบุคลากรมหาวิทยาลัย ดังนั้นสิ่งนี้คือประสบการณ์นอกห้องเรียนที่แท้จริง และได้มาโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ”