รศ.ดร.วรากรณ์ แนะ 2 กลุ่มงานวิจัย “เกษตร-ไอที” ควรได้รับแรงกระตุ้น เหตุช่วยหนุนเศรษฐกิจโต ขณะคณะปฏิรูปด้านการศึกษาเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยฯ เล็งให้ “สิทธิความเป็นเจ้าของ - ต่อยอดผลงาน” แก่นักวิจัยไทย
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า อุปสรรคที่ทำให้คุณภาพของงานวิจัยในประเทศไทยยังขาดการพัฒนาไม่เท่าเทียมกับนานาชาติ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม คือ สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีระบบจูงใจ (Passion) ให้คณาจารย์หันมาทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงไม่มีการกำหนดมาตรฐานเพื่อผลักดันให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถด้านงานวิจัย สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบงานวิจัยและศักยภาพของนักวิจัย ให้มีความพร้อมในการผลิตงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มงานวิจัยที่มองว่าควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยหรือพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการและชุมชน มี 2 กลุ่ม
·กลุ่มงานวิจัยด้านการเกษตร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรถือเป็นรากฐานสำคัญที่มีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และภาคเกษตรยังเป็นภาคสำคัญที่รองรับการย้ายคืนถิ่นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 งานวิจัยต้องสามารถตอบโจทย์ปัญหาในเรื่องของต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่า มีมูลค่าอยู่ที่ 716,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 669,079 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูป ดังนั้น งานวิจัยจะช่วยยกระดับภาคเกษตรไทยให้สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆ ของตลาดและผู้บริโภค สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรไทย และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วภายหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 ได้
·กลุ่มงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สถานการณ์โรคโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาด จึงสำคัญอย่างยิ่งในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นจำนวน 24,400 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยเฉพาะการป้องกันและลดผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ตัวอย่างผลสำเร็จในปี 2563 เช่น ผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและตรวจสอบคุณภาพหน้ากากอนามัย การผลิตชุดตรวจเชื้อโควิด-19 โดยวิธี Real-Time RT-PCR จากน้ำลาย เป็นต้น
ทั้งนี้ การปฏิรูปบทบาทการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่กำลังเร่งผลักดันแผนปฏิรูปฯ ด้านการศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยความคืบหน้าล่าสุด ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอและผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดย พ.ร.บ. ดังกล่าว จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานผู้ให้ทุนและผู้รับทุน ได้แก่ สถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษา และนักวิจัย ให้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาผู้รับทุนหรือนักวิจัยไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยได้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงไม่สามารถนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้
“อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับสถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษา และนักวิจัย ในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนโดยรัฐไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” รศ. ดร.วรากรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22
###