สมุทรสาครผุดตลาดอาหารทะเลต้นแบบ สร้างภูมิต้านโควิด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย พร้อมเปิดประเทศ เปิดเมืองเศรษฐกิจ ใช้มาตรการป้องกันควบคู่การควบคุม
วันที่ 15 ต.ค.64 นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดโครงการตลาดอาหารทะเลต้นแบบ สร้างภูมิต้านโควิด เพื่อเศรษฐกิจสมุทรสาคร (ตลาดทะเลไทย / ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร) ณ ตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีนายณภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร นายกเทศมนตรีตำบลท่าจีน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการในตลาดทะเลไทย กับ ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร และผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรม
สำหรับโครงการตลาดอาหารทะเลต้นแบบ สร้างภูมิต้านโควิด เพื่อเศรษฐกิจสมุทรสาคร (ตลาดทะเลไทย/ตลาดกลางกุ้ง) ที่จัดขึ้นนี้ นับตั้งแต่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ที่ตลาดกลางกุ้งและตลาดทะเลไทย จนถึงปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครมากกว่า 108,000 ราย สำหรับตลาดทะเลไทยและตลาดกลางกุ้ง ของจังหวัดสมุทรสาคร นับว่าเป็นตลาด กลางสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่แปรสภาพมาจากสัตว์น้ำ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ภาพรวมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครนั้น ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารทะเล อาหารทะเลแปรรูป และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพและจำหน่ายผลผลิตได้ตามปกติจากที่มีการวางแผนไว้ อีกทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจบางชนิดยังประสบปัญหาราคาตกต่ำอีกด้วย
สำหรับอำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดสมุทรสาคร และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ ผู้ซื้อ และ ประชาชนที่มาใช้จ่ายในตลาดตลาดทะเลไทย/ตลาดกลางกุ้ง จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เทศบาลนครสมุทรสาคร เทศบาลตำบลท่าจีน รวมถึงผู้ประกอบการตลาดทะเลไทยและ ตลาดกลางกุ้ง จัดทำ“โครงการตลาดอาหารทะเลต้นแบบ สร้างภูมิต้านโควิด เพื่อเศรษฐกิจสมุทรสาคร (ตลาดทะเลไทย/ตลาดกลางกุ้ง) ขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด -19) ซึ่งใช้วิธีป้องกันควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองเชิงรุก Antigen Test Kits (ATK) และการฉีดวัคซีน ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นประชาชนและกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพภายในตลาดทะเลไทย/ตลาดกลางกุ้ง โดยกิจกรรมในโครงการนำร่องนี้ นอกจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก Antigen Test kits (ATK) และการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีกิจกรรมการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของสมุทรสาครที่มีมาตรฐาน ปลอดภัยจากเชื้อโควิด – 19 อีกด้วย ส่วนผู้ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนที่ตลาดทะเลไทยนั้นมีเป้าหมายอยู่ราวๆ 3,200 คน
นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องการแสดงให้ผู้บริโภคหรือผู้เข้ามาใช้บริการในตลาดทั้ง 2 แห่งนี้ ได้เห็นถึงศักยภาพและความปลอดภัยของตลาด โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่เข้ามาซื้อขายสินค้า ต่างๆในตลาดทะเลไทย หรือตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มทุกคนทุกกลุ่ม แต่ยังคงไว้ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่จังหวัดสมุทรสาครเคยได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะมาตรการ DMHTT ที่ถือว่าเป็นมาตรการเข้มข้นที่ทุกคนยังคงต้องถือปฏิบัติถึงแม้ว่าวันนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครจะลดลงจนอยู่ในภาวะที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงก็สามารถกลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้งถ้าเราไม่ระมัดระวัง แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะครอบคลุมแล้วก็ตาม ดังนั้นนอกเหนือจากที่ทางจังหวัดสมุทรสาครต้องการให้มีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดแล้ว ยังมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการ DMHTT ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครทุกคน ที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น การ์ดอย่าตก ซึ่งก็ขอให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตนต่อไป เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปนั้น เป็นเพียงตัวช่วยลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด 19 เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เรายังคงสามารถเป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
นายณรงค์ฯ ยังกล่าวถึงเรื่องของการฉีดวัคซีนภายใต้โครงการตลาดอาหารทะเลต้นแบบ สร้างภูมิต้านโควิด เพื่อเศรษฐกิจสมุทรสาคร ที่จะเชื่อมโยงกับการเปิดเมือง ว่า สำหรับเรื่องของการเปิดเมืองในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ก็ต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่นอกจากจะเปิดเรียนแล้ว ยังมีเรื่องของการเปิดเมืองเพื่อปากท้องพี่น้องประชาชนที่ต้องให้ความสำคัญและเดินหน้าต่อไป เราไม่เพียงเน้นไปที่การป้องกันเท่านั้น แต่เรายังมุ่งไปที่การเดินหน้าเศรษฐกิจของจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย แม้ว่าวันนี้เราจะได้รับวัคซีนมากแล้ว แต่มาตรการการเฝ้าระวังตนเองและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นก่อนที่เราจะเปิดเมือง เราก็จะต้องประเมินสถานการณ์โดยรวมก่อนว่าพี่น้องประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครนั้น ปฏิบัติตามมาตรการมากน้อยเพียงใด ซึ่งเราต้องดูเวลาจนเรามั่นใจว่า พี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็งและตั้งมั่นในการปฏิบัติตาม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาความพร้อมของการเปิดเมืองต่อไป
ขณะที่นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด กล่าวว่า โครงการฯ ที่จังหวัดสมุทรสาครจัดขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จังหวัดให้ความสำคัญกับตลาดทะเลไทย โดยโครงการนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทะเลไทย ทำให้มีผู้เข้าซื้อขายในตลาดทะเลไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อได้ว่าจากนี้ไปจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้อีกระดับหนึ่ง จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคหรือลูกค้าตลาดทะเลไทย เข้ามาจับจ่ายซื้อหาอาหารทะเลและผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ภายในตลาดทะเลไทย เพราะตลาดแห่งนี้เป็นตลาดปลอดภัย ปลอดจากเชื้อโควิดแล้วแน่นอน
ด้านนายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้รับการตอบสนองดี มีประชาชนมาสนใจฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเกินคาดการณ์ ซึ่งการดำเนินโครงการในตลาดกลางกุ้งก่อนหน้านี้ 1 วัน มีแรงงานมาเข้ารับการตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนกว่า 1,200 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว ส่วนเรื่องของเกณฑ์การฉีดวัคซีนที่ตลาดทะเลไทยนั้น จะฉีดให้ทั้งแรงงานคนไทย และแรงงานข้ามชาติ โดยจะมีการให้วัคซีนซิโนแวค หรือวัคซีนซิโนฟาร์มตามที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมจาก อบจ.สมุทรสาคร ซึ่งก็จะเน้นไปในกลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย จะเป็นแบบฉีดไขว้ ส่วนผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วนั้น จะทำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ในภายหลังด้วยวัคซีนที่เหมาะสมกับการกระตุ้นภูมิ และหลังจากนี้จะมีการขยายผลไปยังตลาดอื่นๆ เพื่อให้การฉีดวัคซีนนั้นครอบคลุมสูงสุด ส่วนเรื่องของการเปิดเมืองนั้น ก็ได้มีการพูดคุยกับท่านผู้ว่าการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเราจะเริ่มใช้มาตรการในการป้องกันมากขึ้น และจากนั้นก็ใช้ ATK ในการตรวจประเมิน ถ้าหากพบการติดเชื้อเกิดขึ้น ณ จุดใด ก็จะต้องรีบนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษา แล้วทำการคัดกรองกลุ่มผู้เสี่ยงสูง พร้อมกับกระบวนการฆ่าเชื้อในสิ่งแวดล้อม กับ ฆ่าเชื้อในโพรงจมูกควบคู่กันไป ซึ่งก็เชื่อได้ว่าจะช่วยทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการเปิดเมืองก็เดินหน้าต่อไปได้