ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: จัดว่าเป็นอาคารที่ดูสะดุดตาในจำนวนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สังกัดกรมศิลปากร นั่นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ตามข้อมูลกรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่า รวมถึงองค์ความรู้ด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีมาตรฐานทั้งรูปแบบอาคารที่สะดุดตาโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมที่สื่อถึงการพบโบราณวัตถุที่แทรกอยู่ในชั้นดิน ภูมิทัศน์ที่เปิดให้สัมผัสบรรยากาศภูมิประเทศ เพื่อให้เข้าใจถึงการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยบนพื้นที่แหล่งโบราณคดีจริง รวมไปถึงนิทรรศการภายในที่ตั้งใจให้เป็นพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุด
เนื้อหานิทรรศการ เน้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง “วัฒนธรรมบ้านเก่า” หมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย ที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามที่ราบ หรือเชิงเขาไม่ไกลจากลำน้ำ ดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และล่าสัตว์ รู้จักทำขวานหินขัดและมีภาชนะดินเผาที่หลากหลาย มีภาชนะรูปทรงเด่นคือหม้อสามขา ภาชนะทรงพาน ภาชนะมีคอและเชิงสูง และภาชนะทรงถาดก้นลึก กำหนดอายุราว 3,500 – 4,000 ปีมาแล้ว และมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยทางภาคใต้ของประเทศไทยและทางตอนเหนือของมาเลเซีย โดยมีการจัดแสดงการขุดค้นและหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินขัด เครื่องประดับ ภาชนะดินเผาที่เรียกว่า “หม้อสามขา” เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมบ้านเก่า
ทั้งจัดแสดงเครื่องมือหินจำลอง จำนวน 8 ชิ้น ที่พบโดย ดร. เอช อาร์ ฟาน เฮเกเรน นักโบราณคดีชาวดัตช์ที่ถูกจับเป็นเชลยและถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟที่จังหวัดกาญจนบุรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่บ้านเก่าได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาขุดค้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนมีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ในเวลาต่อมา (เดิมเรียก พิพิธภัณฑ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2507 สร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงไทยประยุกต์ และเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี) ทั้งนี้เครื่องมือหินทั้ง 8 ชิ้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กรมศิลปากรกำลังประสานเพื่อนำกลับมาจัดแสดงด้วย
นอกจากนี้ ผู้ชมยังสามารถเยี่ยมชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่โรงเรียนวัดท่าโป๊ะซึ่งตั้งอยู่ข้างพิพิธภัณฑ์ ที่มีการขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก และยังมีการการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่อง โดยพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งที่อยู่ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีจริง ดังนั้นองค์ประกอบทุกอย่างจึงมีความสำคัญ กรมศิลปากรจึงปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึงลักษณะภูมิประเทศของบ้านเก่า เนื่องจากที่นี่เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรมเริ่มเข้าตั้งถิ่นฐานในที่ราบเพื่อการเพาะปลูก ดังนั้นในพื้นที่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์จะมีทางเดินชมธรรมชาติที่เห็นถึงแหล่งน้ำด้วย
กรมศิลปากรยังกล่าวถึงแผนงานโครงการต่อไปด้วยว่า จะจัดตั้งศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่าขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย ของนักวิชาการด้านโบราณคดี ช่วยทำให้ความรู้ทางวิชาการโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงความรู้ด้านงานโบราณคดีกับองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าด้วยกันแบบสหวิชาการ และเมื่อรวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ที่อยู่ใกล้กัน จะเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีได้เป็นอย่างดี