สมาคมการค้ายาสูบไทยหารือปัญหาบุหรี่เถื่อนกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร หลังบุหรี่เถื่อนส่งผลกระทบรุนแรงต่อร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ และห่วงสถานการณ์หนักขึ้นหลังประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา แนะรัฐลงโทษหนักหากเจ้าหน้าที่ทุจริตมีเอี่ยว และปราบปรามจริงจังไม่ใช่ขอไปที นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทยเปิดเผยว่า ปัญหาบุหรี่เถื่อนยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ประกอบกับมีผู้มีอิทธิพลและการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ปัญหาลุกลามหนักโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลทำให้ร้านโชห่วยจำนวนมากถอดใจเลิกขายบุหรี่ ล่าสุดสมาคมการค้ายาสูบไทย ได้เข้าร่วมประชุมกับทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อรายงานสถานการณ์ล่าสุดของปัญหาบุหรี่เถื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ที่รัฐขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 1 ต.ค.64 ที่ทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายขาดตลาดและพ่อค้าคนกลางมีการโก่งราคาทั้งที่ยังไม่มีการประกาศขึ้นราคาบุหรี่อย่างเป็นทางการ ทำให้บรรดาร้านค้าและผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก “ทางสมาคมฯ ได้รับข้อมูลว่าช่วงนี้พ่อค้าบุหรี่เถื่อนกำลังใช้โอกาสที่ตลาดบุหรี่ถูกกฎหมายกำลังปั่นป่วน ออกโปรโมชั่นและเร่งโฆษณาขายบุหรี่เถื่อนหนีภาษีซึ่งสินค้าไม่ขาดตลาด หาซื้อได้ทั้งหน้าร้านและออนไลน์ในราคาคงเดิมคือประมาณซองละ 20-30 บาท ขณะที่บุหรี่ถูกกฎหมายตอนนี้พ่อค้าคนกลางบางรายโก่งราคาขึ้นไปจากเดิมซองละ 60 บาทเป็นซองละ 65-72 บาทไปแล้ว แม้ว่ายังไม่มีการประกาศปรับราคาจากบริษัทบุหรี่และการยาสูบแห่งประเทศไทย” ทั้งนี้ภาคใต้ถือเป็นศูนย์กลางการค้าบุหรี่เถื่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีการวางจำหน่ายกันแพร่หลาย แต่ที่หนักที่สุดคือ พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยมีบุหรี่เถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาทางทะเลผ่านจังหวัดปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง สงขลา และยังมีบุหรี่เถื่อนที่ขนมาขายในพื้นที่ผ่านพรมแดนทางบกหลายจุดในภาคใต้และบางส่วนนำมาจากด่านพรมแดนในภาคตะวันออกโดยเฉพาะจากจันทบุรีและสระแก้วด้วย นางวราภรณ์ กล่าวต่อว่า ประชาชนและร้านค้าในเมืองใหญ่ในภาคใต้ต่างก็รู้ดีกว่าแยกไหน ถนนไหนมีร้านขายบุหรี่เถื่อนบ้าง แต่ร้านเหล่านี้ก็เปิดดำเนินการได้มาตลอด หลายร้านที่มีข่าวว่าถูกจับกุมก็กลับมาเปิดขายบุหรี่เถื่อนต่อได้จนทุกวันนี้ ประชาชนในพื้นที่จึงตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใจเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ทราบข้อมูล มีการออกข่าวการจับกุมแต่ไม่เคยลดปัญหาลงได้จริงเลย “มีการประมานการณ์ว่าการค้าบุหรี่เถื่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีปีละไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทซึ่งถือว่ากระทบต่อความมั่นคงทางการคลังของรัฐ และข้อมูลการจัดเก็บภาษีของภาครัฐชี้ว่ารัฐเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบได้ลดลงจากปีละ 68,000 ล้านบาทในปี 2560 เหลือ 63,000 ล้านบาทในปี 2563 และภาษีบำรุงท้องถิ่น อบจ.จากยาสูบ ลดลงจากปีละ 3,000 ล้านบาทในปี 2560 เหลือ 1,500 บาทในปี 2563 อีกทั้งยังกระทบต่อรายได้ของธุรกิจร้านค้าที่ถูกกฎหมายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดน ตลอดจนบั่นทอนอำนาจรัฐที่ถูกท้าทายอย่างเปิดเผยจนถูกมองเป็นเรื่องปกติ” โดยสมาคมการค้ายาสูบไทยได้เสนอแนะให้คณะกรรมาธิการฯ เสนอรัฐบาลให้สั่งการทุกหน่วยงานปราบปรามจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง และให้มีการติดตามรายงานสถานการณ์จริงเป็นประจำไม่ใช่แค่รายงานตัวเลขการจับกุม พร้อมทั้งยังได้เสนอให้คณะกรรมาธิการฯพิจารณาลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อดูสภาพปัญหาบุหรี่เถื่อนด้วยตนเองและติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ทั้งนี้ล่าสุดจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ขอฝากข้อสังเกตของบุหรี่เถื่อนมีทั้งแบบที่ติดอากรแสตมป์ที่เป็นอากรปลอมและไม่ติดอากรแสตมป์ โดยร้านค้าได้ถูกหลอกในการจำหน่ายเป็นจำนวนมาก อยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ