จังหวัดเลย ถือเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์มากในภาคอีสานที่สามารถปลูกพืชได้แทบทุกชนิด ถึงแม้พื้นที่จะเป็นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็นทำให้เกษตรกรปลุกพืชได้นานาชนิดไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวไร่ มันสำปะหลัง ลูกเดือย และอื่นๆอีกมากมาย แต่มีข้อเสียเปรียบตรงพื้นที่ราบสำหรับปลูกข้าวนามีน้อย ข้าวไร่จึงเป็นที่นิยมปลูกมากในเขตที่สูงของจังหวัดเลย โดยเฉพาะที่อำเภอด่านซ้ายนาแห้ว ภูเรือ การปลูกข้าวในฤดูนาปีแบบอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยมีทั้งข้าวนาสวน และข้าวไร่ ผลผลิตที่ได้เน้นการบริโภคภายในครัวเรือนเนื่องจากจังหวัดเลยมีพื้นที่ราบลุ่มจํานวนน้อย ชนิดข้าวที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกส่วนมากเป็นข้าวเหนียว ส่วนการปลูกข้าวเจ้ามีบ้างเพียงเล็กน้อย ลักษณะการทํานาข้าวของเกษตรกรจังหวัดเลยจะมี 2 ลักษณะคือ พื้นที่ที่อยู่ในที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่นาสวน เกษตรกรจะปลูกข้าวโดยวิธีปักดำ ข้าวที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าวเหนียว พันธุ์กข6 กข8 กข10 และสันป่าตอง ส่วนข้าวเจ้า นิยมปลูกพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ในเขตภูเขาเกษตรกรจะปลูกข้าวไร่ ได้แก่พันธุ์ซิวเกลี้ยง ข้าวเหนียวลืมผัว ซิวแม่จัน หางปลาไหล และเจ้าฮ่อ นอกจากนั้นมีการนำพันธุ์ข้าวนาสวนมาปลูกในสภาพไร่คือสกลนครหรือหอมภูพาน ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวไร่ จึงมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของทรัพยากรพันธุกรรมข้าว และความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่จังหวัดเลยมาช้านาน ดร.รณชัย ช่างศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมข้าว ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ กล่าวว่า ในปัจจุบันข้าวไร่เศรษฐกิจที่เป็นสินค้าที่สำคัญของจังหวัดคือพันธุ์ซิวเกลี้ยง ซึ่งเป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่สูงของจังหวัดเลย มีผลผลิตประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนมากปลูกโดยวิธีหยอดหรือโรยเมล็ดข้าวแห้ง แต่พันธุ์ข้าว ยังมีความแปรปรวนสูงมาก ผลผลิตข้าวที่ได้ยังมีความแตกต่างกัน จากการที่มีลักษณะพันธุ์ที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นการปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ บ้านน้ำเย็น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อการบริโภค และจำหน่ายผ่านศูนย์ข้าวชุมชนในหมู่บ้าน จากผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยและพัฒนาข้าวไร่ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ระหว่างปี 2551-2553 โดยกรมการข้าว นำโดยศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ได้ปลูกศึกษาลักษณะทางการเกษตรพันธุ์ข้าวไร่ ที่รวบรวมจากแปลงเกษตรกรที่ปลูกพันธุ์ข้าวซิวเกลี้ยง 56 ตัวอย่างพันธุ์ ทำการคัดเลือกเฉพาะลักษณะพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการ รวมทั้งประเมินการปรับตัวและการยอมรับของเกษตรกร ในลักษณะทางการเกษตร คุณภาพเมล็ดและ การหุงต้ม และรับประทาน สามารถคัดเลือกข้าวไร่พันธุ์ซิวเกลี้ยงที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ได้พันธุ์บริสุทธิ์และเผยแพร่ให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวซิวเกลี้ยงในชุมชน โดยมีลักษณะประจำพันธุ์คือ ทรงกอตั้ง ปล้องสีเหลือง ใบสีเขียวเข้ม ยาวเรียว ออกดอกประมาณวันที่ 22 กันยายน ลำต้นค่อนข้างแข็ง จำนวนรวงต่อกอ 7 รวงต่อกอ ผลผลิต ประมาณ 270 กิโลกรัม/ไร่ เปลือกเมล็ดสีฟาง รูปร่างปานกลาง ยาว 7-8 มิลลิเมตร กว้าง 2.6 มิลลิเมตร หนา 2.0 มิลลิเมตร ข้าวนึ่งสุกนุ่ม มีกลิ่นหอม ลักษณะเด่นคือ อายุเบาและต้านทานต่อโรคไหม และปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อขอเสนอขอรับรองพันธุ์ สำหรับแนะนำให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวซิวเกลี้ยงบ้านน้ำเย็น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวไร่จังหวัดเลย มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ที่มีคุณภาพ กรมการข้าว โดยศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ได้เข้าไปอบรมและให้ความรู้เกษตรกรที่ปลูกข้าวไร่ สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งเป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก