"ส.อ.ท."หนุนแผน"คลายล็อก-เปิดประเทศ" ชี้ทำความเชื่อมั่นนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน "อนุทิน"ขานรับเปิดประเทศ ชี้เปิดได้ก็ปิดได้หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ขณะที่"ผบ.ตร."สั่งเตรียมพร้อมรับชาวต่างชาติเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะความปลอดภัยเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สิน จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความคืบหน้า และความสำเร็จในการฉีดวัคซันป้องกันโควิด-19 รวมถึงได้มีการสั่งการไปยัง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข ให้ร่วมพิจารณา ในกรณีประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทย "เปิดประเทศ" โดยไม่ต้องกักตัว สําหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศมาจากประเทศที่เป็นประเทศความเสี่ยงตํ่า ซึ่งมีการกำหนด "เปิดประเทศ" เอาไว้ที่อย่างน้อย 10 ประเทศ ส่วนผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำ ก็ยังสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ยังต้องมีการกักตัวตามเงื่อนไขและมาตรการอื่นๆ ตามที่ ศบค. ได้กำหนด โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.64 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ต.ค.64 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย.64 อยู่ที่ระดับ 79.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.8 ในเดือน ส.ค.64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.64 โดยมีปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลง ส่งผลให้ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พร้อมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทรวมถึงห้างสรรพสินค้า สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางดีขึ้น นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรมลดลงจากการใช้มาตรการ Bubble and Seal ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและทำให้การขนส่งล่าช้า นอกจากนี้ ปัญหาความล่าช้าของเรือสินค้าทำให้การส่งออกสินค้าไม่ได้ตามกำหนด ขณะที่ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่คลี่คลาย สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 93.0 จากระดับ 90.9 ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องของภาครัฐ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัว นอกจากนี้ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1.ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวมทั้งประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ 2.ขอให้ภาครัฐดูแลราคาพลังงาน และราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดภาระด้านต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ 3.ขอให้ภาครัฐดำเนินนโยบายที่มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางธุรกิจมากขึ้น และบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ 4.ขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศและ เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ 5.ขอให้ภาครัฐขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อ เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างไร ว่า เราเตรียมความพร้อมไว้ระดับหนึ่งและหารือในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนองนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่แจ้งไว้ต่อประชาชน ส่วนการจะเปิดให้ 10 ประเทศเดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัวนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องของประเทศ รอให้ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หารือก่อนที่จะนำเสนอศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ก่อน ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีปัญหากับการเปิดประเทศ และยังสามารถรองรับเรื่องการรักษาได้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯให้เหตุผลความสำคัญต่างๆ ไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุข ต้องปฏิบัติตามนโยบายด้วยความระมัดระวังและเตรียมการให้มากที่สุด เมื่อถามว่า นายกฯระบุว่าเมื่อเปิดไปแล้ว อาจมีความเสี่ยงแพร่ระบาด และอาจมีโควิด-19สายพันธุ์ใหม่ ต้องมีมาตรการเข้ามารองรับหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯ พูดเผื่อ ถ้าหากมีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาและสถานการณ์ไม่ดีก็ค่อยว่ากัน พูดง่ายๆว่าเปิดได้ แต่ถ้าดูแล้วไม่ดีก็พร้อมจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาต่อไป เราต้องยืดหยุ่นถ้าไปกำหนดไว้หมดว่าพูดอย่างนี้ต้องทำอย่างนั้นเท่านั้น ถอยหลังไม่ได้ เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็รออย่างนี้ไปดีกว่าซึ่งก็ไม่ดี เพราะรัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหาในทุกมิติ เมื่อถามว่า หากเปิดสถานบันเทิงและร้านเหล้าคนจะเข้าไปใช้บริการได้เหมือนเดิมหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กรมควบคุมโรคคงต้องหามาตรการ แต่เราต้องดูว่าเปิดแล้วมีความเสี่ยงหรือไม่ ถ้าเสี่ยงก็ต้องหามาตรการมาดูแล เช่น covid free settingคือทุกคนต้องฉีดวัคซีนทั้งผู้ให้บริการ ลูกค้า และสถานที่นั้นต้องปฏิบัติตามมาตรการของกรมควบคุมโรค แต่เวลานี้ยังไม่ได้หารือในส่วนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสถานบันเทิงก็ต้องปฏิบัติในแนวเดียวกัน เมื่อถามว่า กระทรวงสาธารณสุขประเมินหรือไม่ว่าหลังเปิดประเทศไปแล้วมีแนวโน้มที่จะต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้ง หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะปิดหรือเปิดต้องดูสถานการณ์ ที่ผ่านมาเราทำทุกอย่างโดยใช้มาตรการเข้มข้น เพื่อควบคุมสถานการณ์เมื่อควบคุมได้ก็เร่งปล่อยในแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็คงใช้หลักนี้เหมือนกัน ถ้าเปิดประเทศแล้วเขียนข้อกำหนดไว้ว่าต้องปฏิบัติอย่างนี้ และไม่ปฏิบัติตามเรามีสิทธิ์ที่จะปิดได้ ของพวกนี้ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ประชาชน ถ้าร่วมมือกันและเคารพกฎหมาย ก็จะไม่เกิดปัญหา การติดเชื้อโควิด-19ในผับ บาร์ เป็นสถานที่ที่ต้องระวังให้มาก เพราะมีการสัมผัสใกล้ชิด มีการจับต้องสิ่งของจึงต้องหามาตรการที่ทำให้ปลอดภัยสูงสุด ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภายหลังแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเปิดประเทศ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล พร้อมกำชับการปฏิบัติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตามภารกิจพิธีการคนเข้าเมือง และตามมาตรการทางสาธารณสุขที่ ศบค. ได้กำหนด รวมถึงภารกิจการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่