บทความ: พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน ตลอดระยะเวลาการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กว่า 70 ปี ที่ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติอันพึงประจักษ์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและต่อยอดพระราชดำริด้านต่างๆ จากพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 4,800 โครงการ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการสนองพระราชดำริ มีผลสัมฤทธิ์ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาดิน ป่าไม้ การเกษตร อาชีพ เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นและใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพของราษฎร ดังกรณีของ นายธีรพงศ์ ชาญแท้ เกษตรกรขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเดิมมีอาชีพทำงานก่อสร้าง หลังเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับโครงการแกล้งดินและการปลูกพืชแบบผสมผสานจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ต่อมาจึงนำมาปฏิบัติใช้โดยปลูกข้าวสลับกับทำนาผักบุ้ง ทำให้มีข้าวกินเพียงพอตลอดทั้งปี ส่วนผักบุ้งเก็บขายเป็นรายได้รายวันๆ ละประมาณ 400 บาทต่อวัน พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกผักและไม้ให้ผลเป็นรายได้รายเดือนและรายปี “ดีกว่างานก่อสร้างที่ได้วันละ 260 บาท ชีวิตดีขึ้นภูมิใจที่สุดคือได้เห็นหน้าลูกหน้าเมียทุกวัน แต่ถ้าไปทำงานก่อสร้างออกจากบ้าน 6 โมงเช้าไปที่ตัวเมืองนราธิวาส บางทีไปที่อำเภอสุไหงโกลก กว่าจะกลับบ้านก็หลัง 6 โมงเย็น” นายธีรพงศ์ ชาญแท้ กล่าว โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำฯ สู่ปวงชน ปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำ นับว่าเป็นปัญหาสำคัญ อ่างเก็บน้ำที่ได้ก่อสร้างขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ มีขนาดไม่เท่ากัน เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุนที่จะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ ประกอบกับประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำย่อมเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้พอเพียงกับความต้องการ จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริ ในการพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีศักยภาพที่ดี และมีความเหมาะสมไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลักษณะอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือโครงการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง เช่น โครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ-กลัดหลวง โครงการปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง และโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แนวพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ(อ่างพวง)ฯ ได้ขยายผลเป็นแบบอย่างให้หลายพื้นที่เพื่อนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในยามขาดแคลนน้ำ และพร่องน้ำที่มีปริมาณน้ำมากไม่ให้ไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ น้ำทุกหยดสามารถนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตราษฎรตามพระราชประสงค์ต่อไป พัฒนาเกษตรกรรมภูมิคุ้มกันเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโลนา 2019 จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน รวมถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นคุณอเนกอนันต์ต่อการน้อมนำมาปฏิบัติใช้ ดังเช่น นางสาวปราณี สังอ่อนดี เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านเกษตรผสมผสาน ตำบลบ้านส่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา นำผลสำเร็จมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างของหน้าดิน อีกทั้งเป็นการปรับปรุงดินภายในคราวเดียวกัน รวมทั้งได้หันมาทำการเกษตรที่เหมาะสมถูกหลักวิชาการมาปฏิบัติใช้จนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน “คนไทยโชคดีมากที่มีในหลวงทั้งรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยประชาชน ทุกวันนี้ก็น้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติใช้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และน้อมสำนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่พระองค์ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ทำให้บุคลากรที่ทำงานมีขวัญ กำลังใจในการช่วยเหลือเกษตรกร” นางสาวปราณี สังอ่อนดี กล่าว ขณะที่ นายบัญชา ฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ และประธานแปลงใหญ่ บ้านหนองหว้า ตำบลบ้านช่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกหนึ่งชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้ เผยว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือแนวทางที่ทางกลุ่มนำมาใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ โดยสมาชิกจะเข้าไปดูงานและรับการฝึกอบรมด้านอาชีพจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ แล้วนำมาปฏิบัติที่บ้าน จากเดิมที่ทุกคนปลูกมันสำปะหลังแบบพืชเชิงเดียวทำให้มีปัญหาเรื่องป่าไม้และดินเสื่อมโทรม ตลอดถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จึงหันมาปลูกพืชแบบหลากหลาย มีการรวมกลุ่มกันผลิตและทำการตลาด จนปัจจุบันสามารถพัฒนาขบวนการผลิตเป็นแปลงใหญ่ชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ “ทำอย่างไรก็ได้ที่แบบพออยู่พอกิน ทำจากเล็กไปหาใหญ่ ไม่จำกัดว่าต้องทำตามตำราทั้งหมด ทำข้างบ้านหลายบ้านรวมกันผลผลิตก็มากพอที่จะส่งขายได้ ทุกวันนี้ในชุมชนจะเน้นทำการเกษตรที่คำนึกถึงสิ่งแวดล้อมตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความเอื้ออารีย์ต่อกัน ทุกคนมีความปลื้มใจที่พระองค์ดูแลตลอดมา มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ทำให้ทุกคนมีอาชีพ มีหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานเข้ามาทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปเรียนรู้เรื่องการประกอบอาชีพตรงนั้นได้ ทำให้ชุมชนได้รับการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ทุกคนมีกินมีใช้ไม่เดือดร้อน เราต่างรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และจะร่วมกันทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติต่อไป” นายบัญชา ฉานุ กล่าว