เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แถลงข่าวชี้แจงในกรณีนี้ต่อสื่อมวลชน โดยในเรื่องนี้ กกท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอชี้แจงในประเด็นที่มาเรื่องนี้ว่า กรณีของไทยแตกต่างจากกรณีที่รัสเซีย, เกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย โดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบ และควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา แต่ไทยเรามีประเด็นสำคัญเรื่องการแก้ไขตัวบทกฏหมายพระราชบัญญัติควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 บางประการที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ของวาด้า ในเรื่องบทลงโทษที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และการแยกเป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ โดยเราพยายามแก้ไขกฏหมายลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กระบวนการมีหลายขั้นตอน และละเอียดอ่อน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาของวาด้า ดร.ก้องศักด กล่าวอีกว่า ทาง กกท.ได้หารือกับรัฐบาล โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นปัญหาฉุกเฉิน รวมทั้งประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ติดข้อจำกัดในการแก้กฏหมายที่มีกระบวนการต่างๆ ซึ่งส่วนตัวก็เสียใจที่ไม่สามารถผลักดันกฏหมายนี้ได้ทันตามกำหนดของวาด้า ขณะที่ผลกระทบข้อแรกคือ เราจะไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการ และรับทุนสนับสนุนจากวาด้าได้ ซึ่งตรงนี้ไม่มีผลกระทบใดๆ ข้อสองคือ กรรมการในสหพันธ์กีฬานานาชาติจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี ตรงนี้กระทบต่อตัวบุคคลที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม และยกมือโหวตในสหพันธ์กีฬาได้ ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า ข้อสามไม่สามารถจัดกีฬานานาชาติระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ยกเว้นโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์ และข้อสี่ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดกีฬาที่มีการกำหนด และเตรียมการไว้ก่อนหน้านี้แล้วก็ยังมีโอกาสที่จะจัดการแข่งขันได้ ขึ้นอยู่กับทางสหพันธ์กีฬาแต่ละแห่งจะทำความเข้าใจกับวาด้า ซึ่งก็ต้องลงไปดูรายละเอียดในแต่ละรายการที่จะจัดการแข่งขัน ส่วนการห้ามใช้ธงชาติไทยเราก็ได้ทำเรื่องขอชะลอการลงโทษไปก่อน “เราได้พูดคุยกับทางวาด้าถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้ และผมจะไม่ยอมให้เวลาล่วงเลยไปถึง 1 ปี แต่จะเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ซึ่งทางรัฐบาล และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจน และสั่งการให้เดินหน้าแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และนักกีฬาไทยที่พวกเขาไม่ได้ทำผิดแม้แต่น้อย โดยก็อยากให้สื่อนำเสนอข้อเท็จจริงถูกต้อง เพราะจะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย” ดร.ก้องศักด กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาคือจะมีการออกกฏหมายพิเศษเป็นพระราชกำหนด และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฏหมาย โดยวางกรอบเวลาภายใน 3-4 เดือน ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาที่มีตนเองคอยดูแลในการรายงานความคืบหน้าให้กับวาด้า คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี), และรัฐบาลได้รับทราบ รวมทั้งจะประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งนี้ยืนยันว่าจะทำให้เร็วที่สุดเพื่อให้ไทยกลับมาเชิดหน้าชูตาในเวทีกีฬาโลก ส่วนการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ในปีหน้า จะไม่มีผลกระทบ เพราะเราจะแก้ไขปัญหาเสร็จก่อน “เราได้มีการเก็บข้อมูล ยกร่างกฏหมายส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนร่างกฏหมายส่งให้วาด้าตรวจสอบให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อต้องการปลดล็อกให้เร็วที่สุด ถ้าเสร็จสิ้นแล้วเราสามารถจัดกีฬานานาชาติได้เลย แต่เรื่องกรรมสหพันธ์กีฬา และใช้ธงชาติคงต้องพูดคุยกับวาด้าอีกครั้ง เพราะตามกำหนดเราต้องโดนลงโทษ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ส่วนการแยกออกเป็นองกรค์อิสระนั้น ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของ กกท. ซึ่งเราก็ขอเวลากับวาด้าในการจัดการเรื่องนี้ที่จะต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ และก็ดูในเรื่องบุคคลากร และเงินสนับสนุนต่อไป” สำหรับกรณีที่สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยต่างๆ จะจัดการแข่งขันกีฬานานาชาตินั้น ผู้ว่าการ กกท.กล่าวว่า ถ้าสหพันธ์กีฬานั้นๆ ได้กำหนดไว้แล้วก็คงต้องพูดคุยกับวาด้าในการเดินหน้าจัดการแข่งขันตามสมควร ซึ่งคงต้องดูรายละเอียดเป็นแต่ละรายการไป โดยในวันที่ 12 ตุลาคม เวลา 14.00 น. กกท.ก็จะเชิญสมาคมกีฬาต่างๆ เข้ามาประชุมหารือแนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้ว่าจะเลื่อน หรือเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อ