การแข่งขันยกน้ำหนักยุวชนชิงชนะเลิศแห่งโลก 2021 ที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีนักกีฬาจาก 50 ประเทศ รวม 221 คน เข้าร่วม ส่วนไทยกลับคืนสู่เวทีนานาชาติอีกครั้งในรอบ 2 ปี โดยส่ง 7 จอมพลังดาวรุ่งชายและหญิง ร่วมการชิงชัย หลังผ่านการชิงชัยไป 2 วัน ทัพจอมพลังดาวรุ่งไทยทำผลงานยอดเยี่ยมคว้าไป 4 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่งจอมพลังดาวรุ่งลงชิงชัย2 คน ในรุ่น 59 กิโลกรัมหญิง ได้แก่ “เตย” อาริสรา ไร่ดี อายุ 16 ปี จากกรุงเทพฯ และ “แพน” ปริฉัตร กุนรา อายุ 17 ปี ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของนักยกนำ้หนักไทยในการแข่งขันครั้งนี้ โดยท่าสแนตช์ ปริฉัตร 2 ครั้งแรกยกผ่านที่ 77 กิโลกรัม, 80 กิโลกรัม ตามลำดับ จากนั้นครั้งที่ 3 ออกมายกที่ 82 กิโลกรัม เพื่อคว้าเหรียญทอง แต่ยกไม่ผ่าน สถิติอยู่ที่ 80 กิโลกรัม รับเหรียญเงิน ขณะที่ อาริสรา ยกผ่านครั้งแรกที่ 74 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 เรียก 78 กิโลกรัม ยกไม่ผ่าน ก่อนออกมาแก้ตัวที่น้ำหนักเดิมสำเร็จในครั้งที่ 3 สถิติอยู่ที่ 78 กิโลกรัม ได้เหรียญทองแดง ส่วนเหรียญทองเป็นของ แอนกูโล ดี.ซินิสเตอร์รา จากโคลัมเบีย 81 กิโลกรัม ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ปริฉัตร ยกผ่านครั้งแรกที่ 95 กิโลกรัม แต่ครั้งที่ 2 เรียก 98 กิโลกรัม ยกไม่ผ่าน จากนั้นครั้งที่ 3 เรียกเหล็กเพิ่มเป็น 100 กิโลกรัม เพื่อลุ้นเหรียญทอง ก่อนจะรวมพลังดันเหล็กสำเร็จ สถิติอยู่ที่ 100 กิโลกรัม แม้ต่อมา แอนกูโล ดี.ซินิสเตอร์รา จากโคลัมเบีย จะออกมายกผ่านที่สถิติ 100 กิโลกรัมเท่ากัน แต่ ปริฉัตร ยกได้ก่อนจึงคว้าเหรียญทองไปครอง โดยน้ำหนักรวมอยู่ที่ 180 กิโลกรัม รับเหรียญเงิน สรุป ปริฉัตร คว้าไป 1 เหรียญทอง และ 2 เหรียญเงิน ส่วน แอนกูโล ดี.ซินิสเตอร์รา จากโคลัมเบีย รับเหรียญเงินท่าคลีนแอนด์เจิร์ก และเหรียญทอง น้ำหนักรวม 181 กิโลกรัม ด้าน อาริสรา ครั้งแรกยกผ่านที่ 92 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 เรียก 96 กิโลกรัม ยกไม่ผ่าน แม้จะพยายามแก้ตัวในครั้งที่ 3 ที่น้ำหนักเดิม แต่ทำไม่สำเร็จ สถิติอยู่ที่ 92 กิโลกรัม ได้ที่ 4 ขณะที่น้ำหนักรวมอยู่ที่ 170 กิโลกรัม เพียงพอจะรับเหรียญทองแดงไปครองด้วย สรุป อาริสรา คว้าไป 2 เหรียญทองแดง สรุปผลงานทัพยกน้ำหนักยุวชนไทย คว้าไปรวม 5 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง ด้าน พลอากาศโท วัฒนชัย เจริญรัตน์ ผู้จัดการทีม เปิดเผยว่า คณะนักกีฬาและทีมงานผู้ฝึกสอนจะเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 จากนั้นจะเข้ารับการกักตัวในโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" เป็นเวลา 7 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจะพ้นกักตัวในวันที่ 17 ตุลาคม 2564 และจะเดินทางกลับเข้าแคมป์ยกนำ้หนักทีมชาติไทย ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป ขณะที่พันโทหญิง ดร.อภิญญา ดัชถุยาวัตร เลขาธิการสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลงานของนักกีฬาไทยในครั้งนี้ว่า เป็นที่น่าพอใจเพราะดีเกินความคาดหมาย ถือว่าเป็นผลงานที่ดีมากสำหรับการแข่งขันครั้งแรกของเด็ก ๆ แค่ทำสถิติของตัวเองได้ ก็ถือว่าเอาชนะใจตัวเองได้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังคงต้องพัฒนาต่อไป ความสำเร็จครั้งนี้ทางสมาคมฯ ต้องขอขอบคุณการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนส่งนักกีฬาแข่งขันหาประสบการณ์ และท้ายที่สุดจะลืมไม่ได้คือ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลบำราศนราดูร และ โรงพยาบาลนครพิงค์ ที่สนับสนุนวัคซีนและอำนวยความสะดวกให้คณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมให้ได้เข้าถึงการรับวัคซีน จนทำให้เดินทางไปแข่งขันและประสบความสำเร็จกลับมา