ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง หากเอ่ยถึงโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของประเทศไทย คนทั่วไปจะนึกถึงอาคารทรงปราสาทหิน ที่เรียกกันว่า “ปราสาทขอม” กระจัดกระจายอยู่มากมายในหลายจังหวัด ชื่อปราสาทที่เราๆ ท่านๆ คุ้นกันดี เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทเหล่านี้สร้างขึ้นเมื่อราว 800 ถึง 1,400 ปีมาแล้ว กษัตริย์ชนชาติขอมหรือเขมรโบราณสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถึงอย่างนั้นยังมีโบราณสถานศิลปะขอมในรูปทรง “กู่” ที่เรียกว่าอโรคยาศาล (โรงพยาบาล) ธรรมศาลา กระจัดกระจายอีกมากมายบนเส้นทางวัฒนธรรมขอมดินแดนภูมิภาคนี้ และเมื่อมองภาพโบราณสถานศิลปะขอมรวมๆ เหล่านี้ คงเกิดคำถามในใจว่า แล้วมีอยู่จำนวนเท่าใดในภาคอีสานของไทย ฉบับนี้พาไปหาคำตอบกันที่นิทรรศการ “แผนที่แหล่งโบราณสถานศิลปะขอม ที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จัดแสดงถาวรอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ขอนแก่น โดยตัวแผนที่ได้ทำเครื่องหมายหรือเชิงสัญลักษณ์ไว้ให้ผู้ชมได้เห็นแบบกว้างๆ โบราณสถานศิลปะขอมนั้นมีตั้งอยู่ในจังหวัดใดบ้าง พร้อมชื่อปราสาทขอมต่างๆ นิทรรศการปูพื้นฐาน บรรยายเนื้อความกว้างๆ ให้ผู้ชมพอเห็นภาพดินแดนแถบนี้เมื่อราว 1300 กว่าปีที่แล้ว, ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ได้มีอาณาจักรศรีอนาศะ นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ปรากฏอยู่จากหลักฐานจารึกและประติมากรรมพระโพธิสัตว์กลุ่มหนึ่งพบใน จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีลักษณะศิลปะผสมผสานระหว่างทวารวดีและเขมรก่อนเมืองพระนคร ราวพุทธศตวรรษที่ 14 เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้สถาปนาลัทธิเทวราชที่เมืองพระนคร และแผ่อิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคนี้ มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากร อันได้แก่ เกลือและโลหะ ทำให้ชุมชนโบราณแถบภาคตะวันออกเฉียงหนือเจริญและมั่งคั่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตที่เป็นแบบแผน ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 17 จึงปรากฏปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมเป็นจำนวนมากใน จ.มหาสารคาม อาทิ กู่สันตรัตน์ กู่น้อย ศาลานางขาว กู่บ้านสนาม อ.วาปีปทุม กู่บ้านเขวา กู่คูขาด กู่บ้านแดง กู่บัวมาศ และกู่โคกกู่ จ.ร้อยเอ็ด อาทิ กู่คันธนาม กู่กาสิงห์ กู่โพนวิท และกู่เปือยน้อย จ.ขอนแก่น ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เมืองพิมายลุ่มแม่น้ำมูล มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างใกล้ชิดกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อิทธิพลศาสนสถานประเภทอโรคยาศาลและธรรมศาลา ในสมัยของพระองค์พบกระจายอยู่ทั่วดินแดนภาคตะวันออกเฉียงหนือ อาทิ กู่สันตรัตน์ กู่บ้านเขวา ในจ.มหาสารคาม กู่ประภาชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กู่โพนระฆัง จ.ร้อยเอ็ด กู่แก้ว จ.อุดรธานี หลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่พบปราสาทขอมอีก สันนิษฐานว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมขอมและการเมืองของขอม (เขมร) เสื่อมลง และหมดไปในพุทธศตวรรษที่ 18 ถัดจากนิทรรศการบรรยายมาแผนที่ เมื่อมองดูจะเห็นว่าแหล่งโบราณสถานขอมนั้นจับกลุ่มกันหนาแน่นแถบบุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา นอกนั้นกระจายอยู่ทั่วไปตามจังหวัด ศรีสะเกษ ชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สกลนคร ยโสธร ฯลฯ ส่วนพื้นที่ตรงนี้ไล่เรียงชื่อปราสาทขอมตามนิทรรศการระบุไว้ 109 แหล่ง (ไม่ได้ลงแหล่งสถานที่ อำเภอ จังหวัด)ซึ่งเสียดายภาพแผนที่ที่ถ่ายมาไม่ชัดเท่าที่ควร แต่ยังพอให้เห็นเค้าลางอยู่ มีดังนี้ (1 – 30) ดงเมืองแอม บ้านหัวซัว บ้านกงรถ บ้านเขว้า บ้านโคกกระเจิง บ้านสีเหลี่ยม บ้านหนองมะค่า บ้านสระบัว บ้านศาลา บ้านโพนเมือง บ้านจะกุด บ้านสกลนคร บ้านหนองสระ บ้านโคกปราสาท บ้านพนม บ้านกู่ประภาชัย บ้านสุกร บ้านดอนหัน บ้านปราสาท วัดพนมวัน วัดปรางค์(วัดกลาง) วัดปราสาทสระหิน โนนหินตั้ง กู่เกษมหรือปราสาทบึงคำ ปราสาทหินนาแค ปราสาทหนองหอย บ้านปรางค์ วัดหนองชุมแสง เมืองแขก ปราสาทหินโนนกู่ (31 – 60) ปราสาทบ้านบุใหญ่ ปราสาทหินสระเพลง กุฏิฤษีน้อย ปรางค์บ้านปะโค ปรางค์สระเพลง บ้านปรางค์ กู่บ้านปราสาท บ้านปราสาท ปรางค์พลสงคราม ปรางค์ครบุรี ถ้ำวัวแดง กู่ศิลา ปรางค์บ้านสีดา วัดโพธิ์กลาง กู่ศิลา บ้านปรางค์ เมืองถ่ายจาน บ้านปรางค์ ปราสาทหินบ้านถนนหัก ปราสาทหัวสระ วัดสีคิ้ว ปราสาทนางรำ ปราสาทบ้านเบ็ญ ธาตุสมเด็จนางพญา กู่บ้านงิ้ว ดงเมืองเตย บ้านหนองยา วัดบูรณ์ กู่บ้านหัวสระ กู่บ้านตาล (61 – 90) ปรางค์กู่ ปราสาทใบแม่กี่ ปราสาทนางหงส์ ปราสาทหนองบัว ปราสาทโคกงิ้ว ปราสาทตาดำ ปราสาทพนมรุ้ง ถ้ำเป็ดทอง ปราสาทอีหอ ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทปลายปัด ปราสาทบ้านหนองยายพิมพ์ แหล่งบ้านสิงค์ ปราสาทบ้านโคกยาง ปราสาททอง ปราสาทกำแพงน้อย ปราสาทหินกำแพงใหญ่ ปราสาทบ้านกะโดง ปราสาทตาเหมือนธม ปราสาทบ้านไพล ปราสาทบ้านพลวง ปราสาทเบง ปราสาทหินตาเหมือนโต๊ด ปราสาทบ้านถ้ำจาน ปราสาทบ้านสมอ ปราสาทบ้านกู่ ปราสาทบ้านลุมพุก ภูฝ้าย ปราสาทเยอ วัดป่าปราสาทศิลา (91 – 109) ปราสาทมีชัย ปราสาทภูมิโพน ปราสาทยายเหงา ปราสาทหมื่นไชย บ้านปราสาท ปราสาทบ้านช่างปี่ วัดป่าปราสาทจอมพระ ดอนช้าง กู่บ้านโต้น ปรางค์กู่ ปราสาทหนองกู่ บ้านปราสาท ศรีขรภูมิ เขาพระวิหาร ปราสาทเมืองที กู่บ้านแดง กู่น้อย ธาตุภูเพ็ก และดอนกู่ อย่างไรก็ดี นิทรรศการดูเหมือนชื่อปราสาทหินพิมาย จะตกหล่นไป และนี่คือแผนที่แหล่งโบราณสถานศิลปะขอมที่สำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย