ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง : เที่ยวนี้ไปวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีโอกาสถ่ายภาพงานแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ไชยา
งานแห่ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ไชยาของเช้าวันนั้นฝนตกซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคพิธีการแต่อย่างใด พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานยังคงดำเนินการไปตามกำหนดการจนลุล่วงแล้วเสร็จ ส่วนในที่นี้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นภาคใต้ จากข้อมูลสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาถ่ายทอด
งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จัดขึ้นเพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งถือว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ที่ชาวพุทธพึงได้กระทำบำเพ็ญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และถือเป็นการบูชาสักการะต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด การแห่ผ้าขึ้นธาตุ หมายถึงการนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือพระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งมีสาระหรือแก่นแท้อยู่ที่การได้บูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้นผู้คนที่ศรัทธาก็มาจากหลายทิศทาง ต่างคนต่างคณะต่างจึงเตรียมผ้ามาห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ใครจะตั้งขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สุดแต่ความสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย
เดิมขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุ ทุกขบวนนิยมใช้ดนตรีพื้นบ้านนำหน้าขบวน ได้แก่ ดนตรีหนังตะลุง ดนตรีโนรา แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นกลองยาวบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น เพื่อช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินเป็นแถวเรียงเป็นริ้วยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนชู (เทิน) ผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ทั้งนี้เพราะเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าจึงควรถือไว้ในระดับสูงกว่าศีรษะ จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบ แล้วนำผ้าพระบฏขึ้นโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์
คำว่า “แห่ผ้า” คือการนำผ้าที่เย็บเป็นผืนยาวติดต่อกันมาแห่แหน ส่วน “ขึ้นธาตุ” คือการนำผ้านั้นไปโอบรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ้าที่นำมาขึ้นธาตุแต่เดิมเรียกว่า “พระบฎ” หรือ “พระบท” (บ้างเรียกพระบฐ หรือพระบต) ซึ่งก็คือรูปพระพุทธเจ้าที่เขียนหรือพิมพ์บนแผ่นผ้า จิตรกรไทยโบราณมักเขียนภาพพระพุทธเจ้าขึ้นไว้บูชาแทนรูปปฏิมากรรม ภาพพระบฎโบราณมักเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนบนแท่นดอกบัว มีพระอัครสาวกยืนประนมมือสองข้างพระบฎ รุ่นหลังอาจเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนัง
เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้น เมื่อเขียนหรือวาดแถบผ้าเป็นพระบฎแล้ว ก็นิมนต์พระภิกษุไปสวดพระพุทธมนต์ทำพิธีฉลองสมโภชหนึ่งวัน รุ่งขึ้นพอได้เวลากำหนดซึ่งจะต้องเป็นเวลาก่อนเพล ก็จะตั้งขบวนแห่แหนไปพระบรมธาตุ มีเครื่องประโคมแห่แหนเคลื่อนขบวนเป็นทักษิณาวรรตองค์พระบรมธาตุเจดีย์ 3 รอบก่อนแล้วจึงนำขึ้นไปโอบพันพร้อมๆ กับพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์ไปรออยู่ ณ พระวิหารตีนพระธาตุ พระสงฆ์จะสวดอภยปริตรและชยปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมูคณะผู้ศรัทธา จากนั้นถวายภัตตาหารเพล ปัจจัยและบริขารอื่นๆ แด่พระภิกษุสงฆ์ด้วยวิธีสลากภัต
ปัจจุบันด้วยภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับการหาช่างเขียนพระบฎที่มีฝีมือดีและเขียนด้วยความศรัทธานั้นหายาก พุทธศาสนิกชนจึงตัดพิธีกรรมบางอย่างออกไป ผ้าที่ใช้ก็เป็นผ้าสี่เหลี่ยม เช่น สีขาว สีแดง สีเหลือง นำไปแห่แหนกระทำทักษิณาวรรตองค์เจดีย์ 3 รอบ เชื่อว่าการทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริงจะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูป การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการกราบไหว้บูชาต่อพระพักตร์ของพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน การที่ชาวพุทธศาสนิกชนนำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ด้วยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ย่อมถือว่าพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนพระพุทธเจ้าเป็นการบูชาที่สนิทแนบกับพระพุทธองค์
สาระแก่นแท้ของประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ความศรัทธาในพุทธศาสนาทำให้พุทธศาสนิกชนมีจิตใจแน่วแน่ที่จะบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ปีหนึ่งจะต้องมาห่มผ้าพระบรมธาตุเจดีย์ครั้งหนึ่งไม่ให้ขาด ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
1. แสดงให้เห็นลักษณะของชาวพุทธศาสนิกชน ที่ยึดมั่นอยู่ในพุทธศาสนา การทำบุญเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาเพราะมีความประสงค์จะอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า
2. แสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนทั่วทุกทิศ จึงประสงค์มาห่มผ้าพระธาตุอย่างพร้อมเพรียงกัน