เน้นสร้างความร่วมมือแบบยั่งยืนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักรสู่การเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิจัยและด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมแนวหน้า โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคนให้ทันโลก และสนองความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการผู้ร่วมงานในอนาคต รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนับตั้งแต่ช่วงหลังปี 1990 ที่โลกเริ่มมี WWW. ทำให้ทั้งโลกมีความไฮเปอร์มาก ที่สำคัญคือเกิดการแข่งขันมากขึ้น หน้าที่ของ อว. จะต้องผลิตคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงต้องดำเนินการตามความคาดหวังของภาคธุรกิจไทย ให้ก้าวทัน “Global Trend” แม้ว่าประเทศไทยจะมีบุคลากรที่เก่งไม่แพ้กับชาติใด แต่ต้องมี “ตัวช่วย” และต้องเข้าใจจุดอ่อนที่สามารถพัฒนา ปรับปรุงให้กลายเป็นจุดแข็งขึ้นมาได้ ฉะนั้นจึงเกิดความร่วมมือกับ “บริติช เคานซิล ประเทศไทย” ที่เสมือนตัวช่วยให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยที่มีความแข็งแรงทั้งในเชิงศักยภาพที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ตามนโยบายของ อว.ที่มุ่งเน้น 4 ยุทธศาสตร์คือ 1.พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและพึ่งพาตนเองได้ยั่งยืน 2.ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3.พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และ 4.พัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัย อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัย จึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการร่วมกับ กระทรวง อว. ในการขับเคลื่อนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อวัดผลการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ติด 100 อันดับแรกของโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า ทางด้าน นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร มียุทธศาสตร์ “Going Global Partnership” ในการสร้างความสัมพันธ์ระดับนานาชาติที่เข้มแข็งและเท่าเทียมของภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร โดยได้นำร่องร่วมมือกับกระทรวง อว. เปิดตัวโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาคัดเลือกมหาวิทยาลัยไทย 7 มหาวิทยาลัยใน 15 สาขาวิชานำร่องร่วมโครงการ จับคู่สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร อันเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ และเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยในประเทศยังสามารถเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับในการอันดับและขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก สำหรับ 7 มหาวิทยาลัยของไทย 15 สาขาวิชาที่เข้าร่วม คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 สาขาวิชาแพทยศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ 2 โครงการ สาขาภูมิศาสตร์ สาขาพัฒนศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และป่าไม้,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 1 สาขาได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจาก,มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาตร์ชีวภาพ สาขาแพทย์ศาสตร์ และสาขาพัฒนศาสตร์, มหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1 สาขาได้แก่ สาขาวิชาพัฒนาศาสตร์ จากผลการวิเคราะห์ภาพรวมของทั้ง 15 สาขาวิชา 7 มหาวิทยาลัย พบว่าต่างมีจุดแข็งในเรื่องชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับภายในประเทศ มีทรัพยากรที่เพียบพร้อม และมีสมรรถนะในการสร้างสรรค์งานวิจัย ในขณะเดียวกันยังสามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นในด้านทักษะภาษาอังกฤษ และยังขาดการสร้างกลยุทธ์ในภาพรวมที่เอื้อต่อการทำงานในระดับนานาชาติ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางการศึกษา และความร่วมมือกันนี้จะสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการทำวิจัยที่มีศักยภาพสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โครงงานวิจัยถือเป็นอีกตัวชี้วัดอันดับของแต่ละมหาวิทยาลัย และคิดว่าโครงการนี้จะทำให้มีการทำงานด้านวิจัยมากขึ้น 3 ปี นับจากนี้จะเห็นผล หลังจากวันนี้จะมีมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรที่สนใจเข้ามาจับคู่กับมหาวิทยาลัยในแต่ละสาขา เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยจะมีเงินสนับสนุนที่ 3 ล้านบาทต่อทุน ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในช่วงปีแรกของโครงการ เพื่อสร้างคอนเนคชั่นแรกเริ่มระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร อันจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และกลายเป็นคอนเนคชั่นที่มั่นคงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนตอบโจทย์กลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.britishcouncil.or.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand