สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
หลวงพ่อพระพุทธโสธรหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิขัดราบ พระเนตรเนื้อแบบสมัยล้านช้าง ความสูง 1.98 เมตร หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา ที่เรียกสั้นๆ ว่า “วัดโสธร” หรือ“วัดหลวงพ่อโสธร” นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญมากองค์หนึ่งของไทย ที่พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศให้ความเคารพศรัทธาและแวะเวียนกันมากราบไหว้ขอพรกันเนืองแน่น
ความเป็นมาของ "พระพุทธโสธร" นั้น มีเรื่องเล่าขานต่อๆ กันมา เกี่ยวกับ ‘ตำนานพระพุทธ รูปลอยน้ำ’ อยู่หลายเรื่อง อาทิ
“... ณ เมืองเหนือเมื่อครั้งอดีตมีพี่น้อง 5 คนบวชเรียนเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันทั้งหมด มีอำนาจฌานสมาบัติ ตลอดจนมีอิทธิฤทธิ์แก่กล้ามาก ท่านทำสมาธิแล้วเห็นว่าจะเกิดความยากลำบากทั่วภาคกลางจะต้องไปช่วยให้เกิดความร่มเย็น และวิธีที่รวดเร็วที่สุดก็คือการลอยตามน้ำไป จึงทำน้ำพระพุทธมนต์เตรียมไว้สำหรับนำมารดให้กลายร่างเดิม จากนั้นทั้งหมดก็เข้าฌานและปล่อยตัวลงน้ำแปลงตนเป็นพระ พุทธรูปใหญ่ เพื่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจไว้ หากไม่ใช่ที่นั้นไม่ว่าสิ่งใดก็ไม่สามารถนำท่านขึ้นฝั่งได้ แต่ด้วยเหตุอันเหลือคาดน้ององค์สุดท้องไม่นำน้ำมนต์ไปรดให้พี่ๆ อาจด้วยเห็นว่าพระภิกษุรูปเดียวคงไม่สามารถผ่อนคลายความทุกข์ได้เท่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่อันจะเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจได้มากกว่า
พระพุทธรูปองค์ที่ 1 ลอยไปทางแม่น้ำนครชัยศรีคือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม องค์ที่ 2 ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา คือ หลวงพ่อโตบางพลี วัดบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ องค์ที่ 3 ไปตามแม่น้ำแม่กลอง คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม องค์ที่ 4 ลอยตามแม่น้ำเพชรบุรี คือ หลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี ส่วนองค์สุดท้ายคือ หลวงพ่อโสธร ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นฝั่งมาประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดโสธร จ.ฉะเชิงเทรา"
วัตถุมงคลหลวงพ่อพระพุทธโสธรนั้น มีการจัดสร้างกันมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ทรง ทั้งพระบูชา พระเครื่อง และเหรียญ เพื่อนำปัจจัยมาบูรณะและพัฒนาจนวัดโสธรวรารามวรวิหาร เจริญรุ่งเรืองและสวยงามยิ่งในปัจจุบัน และผู้เลื่อมใสศรัทธาที่มากราบนมัสการก็ได้มีโอกาสเช่าบูชาไปสักการะยังเคหสถานของตนเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัวซึ่งล้วนได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะที่สร้างกันรุ่นแรกๆ ปัจจุบันสนนราคาสูงและหาของแท้ยากยิ่ง เพราะมีการทำเทียมเลียนแบบได้ใกล้เคียงมากทีเดียวจะเช่าจะหาต้องพิจารณาให้ดี
“เหรียญปั๊มพระพุทธโสธรสองหน้า ปี 2497” ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในสุดยอดวัตถุมงคลหลวงพ่อพระพุทธโสธรที่ได้รับความนิยมและเสาะแสวงหากันอย่างกว้างขวางจัดสร้างโดย พระราชเขมากร (ก่อ เขมทัสสี) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อหาปัจจัยบูรณะวิหารหลวงพ่อโสธร โดยสร้างพร้อมกับพระชัยวัฒน์, แผ่นปั๊มหน้ากาก, เหรียญอาร์ม, เหรียญใบเสมาเล็ก, แหวนลงยา, ผ้ายันต์ และธง
เหรียญปั๊มพระพุทธโสธรสองหน้า ปี 2497 นอกจากมีการจัดสร้างเป็น ‘เนื้อทองเหลืองหรือเนื้อทองฝาบาตร’ แล้ว ยังมีผู้เคยพบเห็น‘เนื้อเงิน’ ด้วย และเนื่องจากด้านหน้าและด้านหลังเหรียญเป็นรูปจำลองพระพุทธโสธรทั้งสองด้าน จึงเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘เหรียญปั๊มพระพุทธโสธรสองหน้า’หรือ ‘เหรียญปั๊มโสธรสองหน้า’โดยแบ่งแยกพิมพ์เป็นพิมพ์มีวงแหวน กับพิมพ์ไม่มีวงแหวน ซึ่งคนรุ่นก่อนยังแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น พิมพ์มีวงแหวน (นิยม), พิมพ์ 5-7:5-7, พิมพ์ 5-7:6-7, พิมพ์ 6-7:6-7และ พิมพ์คางทูม
ข้อสังเกตของ พิมพ์วงแหวน ซึ่งเป็นพิมพ์นิยม ก็คือ
ด้านหน้าและด้านหลังจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ด้านหน้าจะมีวงแหวนกลมๆ อยู่กลางเส้นสังฆาฏิเหนือแนวพระถัน ส่วนด้านหลังไม่มี
มีเส้นบล็อกแตกหนาใหญ่ที่พระอังสาขวาขององค์พระ และมีเส้นแตกเล็กๆ อยู่ที่พระอังสาซ้าย
เม็ดพระศกเม็ดที่ 4 แถวสองนับจากข้างบนเป็นเม็ดยาวคล้ายหยดน้ำปลายชี้ขึ้นไปชนกับเม็ดพระศกเม็ดที่ 4 แถวบนสุด
มีเส้นประกายรัศมีซึ่งเกิดจากการปั๊มแผ่กระจายรอบๆ องค์พระ
เม็ดพระศกเม็ดกลางแถวล่างสุดกลมโตเหมือนกันทั้งสองด้าน
นอกจากนี้ให้ดูที่ "ผิวเหรียญ" จะเป็นคลื่นไม่เรียบทีเดียว และกระแสเนื้อเหลืองจะออกสีเขียว ส่วน ‘วงแหวน’ จะเกินเข้าไปในผ้าสังฆาฏิประมาณ 1 ใน 3 แล้วไม่จำเป็นจะต้องติดเป็นวงกลมทุกองค์, เส้นกำไลข้อพระหัตถ์ขวา เป็นวงขนาดใหญ่ดูคล้ายสวมเสื้อแขนยาว ประการสำคัญ ‘พิมพ์วงแหวน’ จะมีเม็ดพระศกเช่นเดียวกับ‘พิมพ์ 5-7:5-7’ ผู้หัวใสจึงมักนำพิมพ์ที่ไม่มีวงแหวนแต่เป็นพิมพ์ 5-7 : 5-7 ไปหยอดวงแหวนให้เป็นลายพิมพ์นิยมให้สังเกตที่ พิมพ์ 5-7:5-7 ของเดิม พระกรรณจะยาวกว่า และพระพักตร์ดูเคร่งขรึมเคร่งเครียดกว่า
เหรียญปั๊มพระพุทธโสธรสองหน้า ปี 2497 พิมพ์ต่างๆ
ส่วนพิมพ์ 5-7:5-7, 5-7:6-7 และ 6-7-6-7นั้น เป็นชื่อที่เซียนพระใช้เรียกตามเม็ดพระศกสองแถวบนสุดตัวเลขแรก หมายถึงแถวบนสุด ตัวเลขที่สอง หมายถึงเม็ดพระศกแถวสองด้านหน้า ส่วนเลขอีกชุดหนึ่งหมายถึงด้านหลัง เช่น 5-7:5-7 คือ พิมพ์ด้านหน้ามีเม็ดพระศกแถวบนสุด 5 เม็ดแถวสอง 7 เม็ด และด้านหลังมีเม็ดพระศกแถวบนสุด 5 เม็ดแถวสอง 7 เม็ด เท่ากัน เป็นต้น
สำหรับ พิมพ์คางทูมพระปราง (แก้ม) ด้านขวาองค์พระมีเนื้อเกินอูมออกมา เม็ดพระศกจะเป็นแบบพิมพ์ 5-7:6-7 จึงนิยมนำไปแก้ให้เนื้อเกินหายไป ให้ส่องดูจะพบรอยแต่งในด้านที่เกิดคางทูมซึ่งบล็อกนี้คงเป็นบล็อกหลังๆ จะเห็นเส้นแตกกระจายอยู่ทั่วไป และในทุกพิมพ์ขอบข้างและฐานจะมีการตกแต่งด้วยรอยตะไบครับผม