ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ในปัจจุบันสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยรัฐ 50 รัฐ และรัฐบาลกลางก็พยายามสร้างภาพให้ดูประหนึ่งว่ารัฐทั้งหมดรวมกันอย่างมีความสุขสมานฉันท์เป็นครอบครัวใหญ่
แต่ในความเป็นจริงมีรัฐอย่างน้อยกึ่งหนึ่งที่ไม่รู้สึกมีความสุขกับการรวมกันอยู่ และอยากเป็นอิสระจากวอชิงตัน แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ แต่ละรัฐจะมีอำนาจในการบริหารจัดการภายในของตนเอง ทว่านโยบายต่างประเทศ นโยบายการทหาร และนโยบายการเงินการคลัง ยังอยู่ในมือของรัฐบาลกลาง
ตามประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเริ่มจากการรวมตัวกันของ 13 รัฐ ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อรัฐเหล่านี้สามารถปลดแอกจากการปกครองของอังกฤษ และประกาสอิสรภาพในปีค.ศ.1776 จึงได้จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐ
นับจากนั้นมาก็เกิดรัฐใหม่ๆและเข้ามารวมตัวด้วย ทำให้สหพันธรัฐเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลากว่าศตวรรษครึ่ง จึงมีรัฐรวมกันได้ 48 รัฐ
ทว่าการเข้าเป็นสมาชิกของสหรัฐอเมริกาก็มีกระบวนการที่ไม่ง่ายนักและอาจล่าช้า เช่น การปรับปรุงรัฐธรรมนูญของรัฐ หรือกฎหมายให้สอดรับกับของรัฐบาลกลาง และต้องผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรส ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะรับหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขให้กลับไปปรับปรุงกฎหมาย ในรัฐหากพบว่าอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานพอควร ในการพิจารณาของสภาคองเกรส
สองรัฐสุดท้ายที่เข้ารวมเป็นสหรัฐฯคือ อลาสก้าและฮาวาย ซึ่งได้รับการรับรองในปี ค.ศ.1959 แม้ว่าจะได้เข้ากระบวนการมาเป็นเวลายาวนานเป็นศตวรรษ และเหตุที่รัฐสภาสหรัฐฯรีบเร่งตัดสินใจในระยะหลังก็เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้สมาชิกรัฐสภารีบเร่งผนวกดินแดนทั้ง 2 เป็นรัฐในสหรัฐอเมริกา เพราะทั้ง 2 รัฐมีที่ตั้งที่สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ นั่นคือ อลาสก้าเป็นดินแดนส่วนเหนือใกล้ขั้วโลกเหนือ และมีพื้นที่มหาสมุทรที่เป็นน้ำแข็งเชื่อมต่อกับโซเวียตรัสเซีย โดยในความเป็นจริงสหรัฐฯได้ขอซื้อดินแดนแห่งนี้มาจากสหภาพโซเวียต
ส่วนรัฐฮาวายนั้นเป็นหมู่เกาะที่มีที่ตั้งเกือบกึ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเป็นป้อมปราการทางทะเลก่อนฝ่ายตรงข้ามจะเข้าถึงแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯก็ได้จัดตั้งฐานทัพเรือขนาดใหญ่ที่เพิร์ลฮาเบอร์
แม้ว่าการเข้าร่วมเป็นสหรัฐอเมริกาจะไม่ง่ายดายและใช้เวลา จนทำให้ว่าที่รัฐที่ 51 อย่าง ปอร์โตริโก ในขั้นสุดท้ายประชาชนมีประชามติไม่ขอเข้าร่วมในสหรัฐอเมริกา
แต่การออกจากการเป็นสมาชิกของสหรัฐอเมริกาก็มิได้ง่ายจนเกือบเป็นไปไม่ได้ ท่ามกลางกระแสที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆของการต้องการแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา
เท็กซัสเป็นรัฐใหญ่มีพื้นที่กว่า 2 เท่าของประเทศไทย เป็นรัฐหนึ่งที่มีความต้องการจะแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา ชาวเท็กซัสจำนวนไม่น้อยมีการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง ขนาดชักธงรัฐเท็กซัสประดับตามบ้านเป็นจำนวนมาก
เท็กซัสจึงนับเป็นรัฐแนวหน้าที่จะขอแยกตัว อย่างไรก็ตามเมื่อได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ศาลสูงสุดได้พิพากษาว่า “รัฐเท็กซัสได้ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่การเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ นั่นหมายความว่ารัฐเท็กซัสไม่อาจจะแยกตัวออกได้โดยลำพัง”
ดังนั้นการจะแยกตัวออกจะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับความยินยอมจากรัฐต่างๆ หรือเกิดการปฏิวัติเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ นั่นคือทางออก 2 ทางที่เกือบเป็นไปไม่ได้
การจะหย่าขาดได้โดยสงบ จึงอาจเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐอื่นๆยินยอม หรือพร้อมจะแบ่งแยกด้วย ซึ่งก็เป็นไปได้ยากสุดๆ
อย่างไรก็ตามหลังจากการพิพากษาของศาลสูงสุด รัฐเท็กซัสก็มิได้ละความพยายามในการพยายามหาช่องโหว่จากคำพิพากษานั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 100 ปีก็ตาม เรียกว่ามุ่งมั่นที่จะพยายามจะแยกตัวให้ได้
เท็กซัสเป็นรัฐใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์กลางการเกษตร และปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาในรัฐภาคใต้ เช่น University of Texas ที่ตั้งอยู่ ณ เมือง Austin หรือมหาวิทยาลัย Rice ที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนระดับต้นๆของสหรัฐฯ
นอกจากนี้เท็กซัสยังเป็นศูนย์กลางการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน ตลอดจนอุตสาหกรรมเปโตรเคมี และศูนย์กลางการเงินในรัฐภาคใต้
ทว่ารัฐเท็กซัสก็ยังมีลักษณะการเหยียดผิวเหมือนรัฐทางภาคใต้หลายรัฐ เช่น อลาบามา จอร์เจีย เทนเนสซี มิสซิสซิบปีฯ
นักการเมืองท้องถิ่นมองว่ารัฐบาลกลางเอารัดเอาเปรียบ โดยการนำเอาทรัพยากรและรายได้ของรัฐไปสนับสนุนรัฐอื่น ซึ่งทำให้รัฐเท็กซัสไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร
นอกจากนี้รัฐเท็กซัสยังมีปัญหาผู้อพยพข้ามแดนมาจากเมกซิโกเป็นจำนวนมาก แต่ในประเด็นนี้รัฐก็ได้ประโยชน์จากการใช้แรงงานถูกๆในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของตน
อนึ่งชาวเท็กซัสถือว่าพวกตนถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพในหลายประการ แม้ว่ารัฐบาลกลางจะยอมผ่านปรนเรื่องกฎหมายการมีอาวุธปีนไว้ในครอบครอง ซึ่งชาวเท็กซัสถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย หากถูกห้ามครอบครองอาวุธปืน อันเป็นที่นิยมอย่างยิ่งของชาวเท็กซัสคงเป็นเรื่องแน่
อย่างไรก็ตามรัฐเท็กซัสก็มิใช่เป็นเพียงรัฐเดียวที่อยากแยกตัวจากสหรัฐฯ ทั้งนี้นักสังคมวิทยาได้นำการสำรวจและรายงานว่าความรู้สึกต้องการแยกรัฐนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น ถึงประมาณ 23.9% มันรุนแรงถึงขนาดจะให้ยุบเลิกการเป็นสหรัฐอเมริกา ตามรายงานสำรวจของรอยเตอร์อิบซอส ในปีค.ศ.2014
ในปีเดียวกันนั้นตัวแทนจาก 29 รัฐจาก 50 รัฐ ได้เสนอการอุทธรณ์ผ่านเว็บไซด์ทำเนียบขาวถึงสิทธิในการแยกตัว หากทำเนียบขาวไม่นำมาใคร่ครวญพิจารณาก็อย่าพึ่งไปพูดถึง “ครอบครัวฉันท์มิตร” หรือ “ครอบครัวแห่งความสุข”เลย
ยิ่งยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีนั้น ความรู้สึกของกลุ่มชนที่สนับสนุนเขามีจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกอยากแบ่งแยก และกระแสนั้นก็ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญความเห็นต่างระหว่างกลุ่มชนในแต่ละรัฐก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยอาจแบ่งแยกเป็นพวกอนุรักษ์นิยมในบางรัฐ และเสรีนิยมในบางรัฐ ปรากฏการณ์นี้จะเห็นได้ชัดเมื่อมีการเลือกตั้งทั้งภายในรัฐและการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ล่าสุดมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียร์ Center for Politics ได้เปิดเผยผลสำรวจโดยรายงานต่อสื่อวันที่ 1ตุลาคม คศ.2021ดังนี้ 1.พรรครีพับลิกันและผู้สนับสนุนทรัมป์ร้อยละ 52เห็นควรแยกประเทศ
2.พรรคเดโมแครทและผู้สนับสนุนไบเดนร้อยละ41เห็นควรแยกประเทศ
3.ร้อยละ90ของผู้สนับสนุนทรัมป์เห็นว่าพวกเดโมแครทคือตัวการบ่อนทำลายประเทศ
4.ร้อยละ70-80ของผู้โหวตไบเดนเห็นว่าพวกตนเองคือผู้ปกป้องประชาธิปไตยจากพวกขวาตกขอบที่เหยียดผิว คลั่งชาติ และขัดขวางความก้าวหน้า
5.ร้อยละ84เห็นว่าพวกเสรีนิยมคือผู้บ่อนทำลายประเทศและนำไปสู่การเป็นคอมมิวนิสต์
แม้แต่สื่อก็แบ่งเป็นกลุ่มและถูกฝ่ายตรงข้ามประณาม เช่น ร้อยละ77ด่าฟ๊อกซ์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงฝ่ายขวา ขณะที่ร้อยละ88ของรีพับลิกันประณามMS NBCซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยม
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความขัดแย้งนี้จะยิ่งบานปลายออกไปจนต้องแยกประเทศในที่สุด
นี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทยที่ต้องใคร่ครวญอย่างยิ่ง