ข้าว กข 69 หรือรู้จักกันอย่างแพร่ หลายในนาม “ทับทิมชุมแพ” ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว เมื่อปี 2559 เป็นข้าวลูกผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมมะลิ 105 สายพันธุ์กลายกับข้าวสังข์หยดพัทลุง แต่ถูกนำไปทดลองปลูกครั้งแรกที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จ.ขอนแก่น ข้อดีปลูกได้ทั้งปี ต้นเตี้ยไม่หักล้มง่าย ระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยวแค่ 130 วัน สั้นกว่าสังข์หยด แถมให้ผลผลิตถึงไร่ละ 797 ตัน สูงกว่าสังข์หยดเท่าตัว...มีลักษณะพิเศษตามชื่อ เมื่อหุงสุกจะมีสีแดงคล้ายทับทิม
ความเป็นมาของข้าวทับทิมชุมแพนั้นเกิดขึ้นที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ในฤดูนาปรัง 2549 ได้มีการคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสมแบบสืบตระกูล ชั่วที่ 1-6 ในฤดูนาปี 2549–2554 ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ และชั่วที่ 7 ในฤดูนาปี 2555 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ โดยปลูกแบบเปรียบเทียบผลผลิตในสถานีในฤดูนาปี 2556 หลังจากนั้นนำผลผลิตมาวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางเคมี ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีโนลิกและลาโวนอยด์และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคราม ปลูกประเมินลักษณะประจำพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ
กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว นำร่องในการปลูกและการตลาดในปี พ.ศ.2558 โครงการข้าวโภชนาการสูง/โครงการข้าวเพื่อตลาดเฉพาะ ในปัจจุบันมีการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจรโดยเครือข่ายเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และเครือข่ายชาวนาในทุกภูมิภาค ซึ่งการบริหารจัดการข้าวพันธุ์นี้ใช้รูปแบบการส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ ผ่านคลับทับทิมชุมแพ เป็นความสำเร็จที่สามารถใช้เป็นรูปแบบกับข้าวพันธุ์อื่นได้และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวนา
นายกิจติพงษ์ เพ็งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพได้เข้ามาดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรของข้าว กข69 (ทับทิมชุมแพ) ในรูปแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ การผลิต การแปรรูปข้าวกล้อง และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งข้าวทับทิมชุมแพมีลักษณะประจำพันธุ์เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 106 วัน มีลักษณะกอตั้งตรง ความสูงประมาณ 113 เซนติเมตร ลำต้นแข็งมาก ใบสีเขียว ปลายใบอยู่ในแนวตั้ง ใบแก่ช้า ใบธงยาว 43.6 เซนติเมตร กว้าง 2.14 เซนติเมตร มุมใบธงตั้งตรง รวงยาว 28.7 เซนติเมตร ลักษณะรวงแน่นปานกลาง คอรวงสั้น จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 167 เมล็ด เมล็ดร่วงยาก เปลือกสีฟาง ข้าวเปลือกมีความยาวเฉลี่ย 10.17 มิลลิเมตร กว้าง 2.47 มิลลิเมตร หนา 1.96 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีแดง มีความยาวเฉลี่ย 7.75มิลลิเมตร กว้าง 2.04 มิลลิเมตร หนา 1.74 มิลลิเมตรจัดเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาว รูปร่างเมล็ดเรียว (อัตราส่วนความยาวต่อความกว้าง 3.80)ลักษณะท้องไข่ขุ่นทั้งเมล็ดคุณภาพการสีดีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 49.40 คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี โดยข้าวสารหุงสุกนุ่ม ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือหุงสุกนุ่มข้าวกล้องหุงสุกมีสีแดงใสคล้ายสีของทับทิม (Ruby) ระยะพักตัวของเมล็ด 6 สัปดาห์
ข้าวทับทิมชุมแพ มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิกสูง และฟลาโวนอยด์สูง ซึ่งสูงกว่าข้าวพันธุ์สังข์หยดพัทลุง (ปริมาณฟีโนลิก 4,661.05มิลลกรัมต่อ100กรัม และปริมาณฟลาโวนอยด์ 2,989.21 มิลลกรัมต่อ100กรัม) โดยสารต้านอนุมูลอิสระทั้งสองมีส่วนช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยให้เม็ดเลือดไม่จับตัวเป็นก้อนจนอุดตัน ป้องกันการเกิดมะเร็ง อีกทั้งยังมีปริมาณอมิโลสต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อหุงสุกจะนุ่มมาก
นอกจากข้าวทับทิมชุมแพเป็นข้าวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังสามารถปลูกสร้างรายได้ให้กับเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้ เนื่องจากปลูกได้ทั้งปีโดยการปลูกทุกเดือนแบบหมุนเวียน ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ดีไม่แพ้การปลูกพืชผักออร์แกนิคทั่วไป ซึ่งปัจจุบันคนหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญเน้นการทานอาหารที่ได้จากธรรมชาติเป็นสินค้าออร์แกนิคปลอดจากสารพิษ หรือมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ ข้าวทับทิมชุมแพถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนรักสุขภาพ