หน้าข่าวกทม.-สาธารณสุข
เผยเหตุต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนเร่งโตมากเกินไป ระบุหากเป็นในเด็กอาการจะเด่นชัดจะรักษาทัน แต่เกิดในผู้ใหญ่กว่าจะรู้ถึงมือหมอก็สาย
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์เปิดเผยว่า โรค Gigantism เรียกอีกอย่างว่า ภาวะยักษ์ ผู้ป่วยจะมีตัวสูงใหญ่กว่าคนปกติ แต่สัดส่วนร่างกาย เท่าเดิมทุกอย่าง มักจะเกิดตั้งแต่เด็ก สาเหตุมาจาก ในวัยเด็กได้รับฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ผลิตจากต่อมใต้สมอง ที่ชื่อ Growth Hormone (GH) มากเกินไป เกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมองที่สร้างGH เนื่องจากฮอร์โมนนี้จะทำหน้าที่สร้างความเจริญเติบโตของร่างกาย เมื่อผลิต GH มากจนเกินไป จะทำให้ร่างกายใหญ่โต โดยผู้ป่วยส่วนมาก จะมีความสูงเกิน200เซนติเมตร (2เมตร)
ถ้าโรคเกิดวัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่น เป็นวัยที่กระดูกยังเจริญเติบโตอยู่ จะส่งผลให้กระดูก และกล้ามเนื้อเจริญเกินปกติ จึงไม่หยุดสูง จะสูงได้มากๆ และตัวใหญ่ โรคนี้ในเด็กจะพบการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ได้เร็ว และรักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าเกิดในผู้ใหญ่โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ สภาพร่างกายจะค่อยๆ เปลี่ยนไปช้าๆ ไม่สูง หรือไม่ใหญ่โตขึ้นรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ล่าช้า จนเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ
นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถีเผยอาการที่พบบ่อยคือ กระดูกยาว กว้าง หนา โดยเฉพาะ กะโหลก กราม กระดูกเปราะกว่าปกติทำให้หักง่าย มีปุ่มกระดูกงอกตามข้อต่างๆ ทำให้ ข้ออักเสบ เสื่อม ปวดข้อ นิ้วมือ นิ้วเท้า ใหญ่ ห่าง และโรคกระดูกพรุน ผิวหนังจะหนา แข็ง กว่าปกติ ผิวหยาบ แห้ง แต่ต่อมเหงื่อโตกว่าปกติจึงมีเหงื่อออกมาก กล้ามเนื้อมัดโตแต่อ่อนแรงกว่าปกติ ลิ้นใหญ่ผิดปกติ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ มักเกิดโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ กล้ามเนื้อหัวใจกล้ามเนื้อหลอดเลือดหนาผิดปกติ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
ก้อนเนื้องอกที่ศีรษะโตจะทำให้ปวดศีรษะเรื้อรัง และก้อนอาจโตจนกดประสาทตา ทำให้เห็นภาพผิดปกติ มีฮอร์โมนเพศผิดปกติ ส่งผลต่อรูปร่างอวัยวะเพศ ความรู้สึกทางเพศ ประจำเดือนผิดปกติ (ในผู้หญิง) โรคนี้จะมีผลต่อต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ทำให้การทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ต่อมหมวกไตทำงานลดลง หรือเกิดโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยของแพทย์ คือ ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนGH และระดับฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เอกซเรย์กระดูก ตรวจต่อมใต้สมองด้วยคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ หรือMRI เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วย โดยมี 3 วิธีได้แก่ ใช้ยาลดหรือต้านการทำงานของฮอร์โมนGHผ่าตัดเนื้องอกต่อมใต้สมอง หรือฉายรังสีรักษาที่ต่อมใต้สมอง ถ้าผู้ป่วยได้รักษาเร็วก่อนจะเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มักมีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับคนทั่วไป