เด็กในระดับปฐมวัย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการศึกษาจากโควิดไม่ต่างกับพี่ ๆ ชั้นประถม มัธยม หรือแม้แต่กระทั่งระดับมหาวิทยาลัย เพราะการปิดเรียนเป็นระยะเวลายาวนานเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหากับพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็กไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการทางสมอง การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และยิ่งการปิดศูนย์พัฒนาเด็กทอดยาวออกไปมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้กับเด็กเพื่อก้าวไปสู่การเรียนในขั้นพื้นฐานก็ยิ่งลดลงมากยิ่งขึ้น และยังเป็นตัวการสำคัญที่จะนำพาเด็กหลุดไปจากระบบการศึกษาอีกด้วย
สำหรับประเด็นดังกล่าวสิ่งสำคัญสำหรับการเดินหน้าการเรียนการสอนให้ไปต่อได้คือการ “ปรับตัว” และเพื่อให้หลายๆ สถานศึกษาได้เห็นถึงการปรับตัวใต้ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น วันนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. จึงอยากพาทุกคนไปถอดบทเรียนครั้งสำคัญกับแนวทางตั้งรับของ “ศูนย์พัฒนาเด็กต้นแบบ” ในพื้นที่เทศบาลบ่อตรุ อ.ระโนด จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนให้การเรียนการสอนในศูนย์พัฒนาเด็กให้ไปต่อได้
นางสาวสุวิดา ศรีนาค ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลบ่อตรุ อ.ระโนด จ. สงขลา เล่าว่า ในพื้นที่เทศบาลบ่อตรุมีศูนย์พัฒนาเด็กภายใต้การดูแลจำนวน 4 ศูนย์มีเด็กเล็กทั้งหมดประมาณ 151 คน ครู 15 คน โดยทางเทศบาลได้มีนโยบายในการดูแลเด็กก่อนวัยเรียนตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งได้มีการกำหนดกิจกรรม หลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย พัฒนาด้านสมอง และส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว รวมไปถึงการพัฒนาสถานที่ ห้องเรียนให้น่าเรียน ซึ่งที่ผ่านมาทางเทศบาลและศูนย์ได้เตรียมความพร้อมรอเปิดเทอมไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่จากการการระบาดดของวิด-19 ทำให้กิจกรรมทุกอย่างไม่สามารถดำเนินการได้ ทางเทศบาลจึงได้มีการหารือกับครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 4 ศูนย์ เพื่อปรับรูปแบบการเรียนการสอนช่วงที่ต้องปิดศูนย์ฯเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
โดยรูปแบบการส่งต่อความรู้ไปให้เด็กๆ นั้น เทศบาลได้จัดทำใบงานพร้อมทั้งอธิบายวิธีทำ - วิธีการสอนให้แก่ผู้ปกครอง โดยในใบงานนั้นจะมีกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ทำจำนวน 5 กิจกรรม โดยให้ทำวันละ 1 กิจกรรมเท่านั้น ทั้งนี้กิจกรรมที่ใส่เข้าไปในใบงานนั้น จะเป็นกิจกรรที่ช่วยเสริมสร้างทั้งด้านร่างกาย และพัฒนาการด้านการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมให้ผู้ปกครองช่วยเด็กพูดคุย คำตอบถามง่ายๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก กิจกรรมหนึ่งสัปดาห์แรกพบ เป็นกิจกรรมแนะนำเพื่อนร่วมชั้น ครูประจำชั้น ห้องเรียน ผ่านรูปถ่ายบนในงานเพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยเหมือนกับการได้ไปเรียนจริงในห้องเรียน นอกจากนี้เทศบาลยังได้มีแนวทางหใครูอัดคลิปวิดีโอสั้น ๆเพื่ออธิบายวิธีการสอนเด็กทำกิจกรรมให้แก่ผู้ปกครองด้วย
“การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กค่อนข้างมาก สิ่งที่เทศบาลและครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กต้องทำคือการปรับกระบวนการ รูปแบบให้การเรียนรู้เกิดความต่อเนื่อง เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมเหมือนกับการมาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ แต่ต้องทำบนพื้นฐานที่ไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้แก่ผู้ปกครอง เพราะในบางครอบครัวผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้านปล่อยลูกไว้กับปู่ ย่า ตา ยาย
ดังนั้นทางเทศบาลก็ได้พยายามหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ปกครองสอนเด็ก ๆ ได้ง่ายและสะดวกที่สุด อย่างน้อยหากไม่สามารถสอนตามกิจกรรมที่ให้ไปได้ผู้ปกครองก็สามารถสอนให้พวกเข้าได้ช่วยเหลือตนเองผ่านการให้ทำกิจวัตรประจำวันเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัว และเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กกลับเข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ อีกครั้งหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น” นางสาวสุวิดา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวนิยดา จันทร์ทอง ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนวัดประดู่ เทศบาลตำบลบ่อตรุ กล่าวว่า ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กโรงเรียนวัดประดู่ได้ปรับรูปแบบการสอน และการทำกิจกรรมใหม่ทั้งหมด ในเบื้องต้นทางศูนย์พัฒนาเด็ก จะมีการประสานไปยังผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามารับใบงาน พร้อมรับฟังแนวทาง รูปแบบ วิธีการดูแลลูก ๆ ในเบื้องต้น โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ ศพด.ได้มอบหมายให้ผู้ปกครองไปนั้นจะเน้นการกิจกรรมตามสถานการณ์โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้ผู้ปกครอง และให้ผู้ปกครองสามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ ไปต่อยอดสำหรับการสอนเด็ก ๆ ที่บ้านได้ เช่น ช่วงวันแม่ที่ผ่านมาก็ให้ผู้ปกครองสอนเด็ก ๆ ทำพวงมาลัย
นอกจากนี้ทาง ศพด. ยังมีกิจกรรมเพื่อเน้นการสร้างและกระตุ้นพัฒนาการในตัวเด็กเล็กร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นกการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการส่งดินน้ำมันไปให้เด็กปั้นที่บ้าน การฝึกความอดทนและฝึกสมาธิโดยการส่งหนังสือนิทานไปให้เด็ก หลังจากนั้นทาง ศพด. จะให้ผู้ปกครองรายงานกลับมาว่าเด็กฉีกหนังสือนิทานหรือไม่ ส่วนการสร้างปฏิสัมพันธ์จะเน้นการฝึกให้เด็กพูดคุยกับคนในครอบครัวก่อน เพราะระยะนี้เด็กอาจจะไม่สามารถออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ได้
“จากการติดตามผลผ่านการพูดคุยและหารือกับผู้ปกครองส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองมีความเข้าใจ และสามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ ไปประยุกต์สอนลูก ๆ ได้ค่อนข้างดี โดยการให้ผู้ปกครองเป็นตัวแทนคุณครูในช่วงที่เปิดการเรียนการสอนไม่ได้นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะต้องยึดเป็นแนวทางหลัก เพราะผู้ปกครองเป็นคนที่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุดในระยะนี้ ตนอยากฝากถึงผู้ปกครองเพิ่มเติมว่าในระหว่างนี้พยายามฝึกให้เด็กช่วยเหลือต้นเองในเบื้องต้นให้ได้ แม้ว่าบางครั้งอาจจะเสียเวลารอพวกเขาไปนิดหน่อยแต่การฝึกให้เด็กเล็กทำอะไรง่าย ๆ เอง ก็เรียกว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญกับตัวเด็กเช่นกัน ” นางสาวนิยดา กล่าวทิ้งท้าย
ด้านดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพกายศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า เด็กในช่วงปฐมวัยถือว่าเป็นช่วงวัยที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพัฒนาการ เพราะจุดเริ่มต้นการเรียน และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กจะเริ่มต้นขึ้นในวัยนี้ ซึ่งที่ผ่านมาการระบาดของโควิด -19 ได้ส่งกระทบต่อการจัดกิจกรรม การเรียนการการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กค่อนข้างมาก
แต่จากการเข้าไปประเมินคุณภาพภายนอก สมศ. พบว่า หน่วยงานปกครองท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการปรับตัวได้ค่อนข้างดีมาก โดยหลายพื้นที่ได้มีการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองได้นำกิจกรรม หรือแนวทางไปสอนเด็ก ๆ ที่บ้านต่อ ด้านผลการประเมินคุณภาพภายนอกในระดับการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก)ที่ สมศ. ได้ดำเนินการประเมินและรับรองผลไปแล้วนั้น มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 4,540 แห่ง พบว่าสถานศึกษา พบว่ามีผลการประเมินด้านคุณภาพของเด็กปฐมวัย อยู่ในระดับดีจำนวน 3,307 แห่ง คิดเป็น 73% ของจำนวน ศพด. ทั้งหมด
“สมศ. ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพทั้งด้านผู้เรียน ด้านการจัดการเรียนการสอนในระยะนี้ โดยศูนย์พัฒนาเด็กจะต้องดำเนินการพัฒนาหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของเด็กเล็กให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังต้องพยายามพัฒนา - อบรมครูผู้สอนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงได้แนะนำให้ประสานงานกับผู้ปกครองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นภายในชุมชนและครอบครัว รวมไปถึงการนำเอาผลการประเมินที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับการประเมิน สมศ.ก็ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการประเมินที่มีการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่จะได้รับจากการประเมินภายนอกในรอบปี 2564 ผ่านการให้ความรู้บนช่องทางต่าง ๆ โดยเชื่อมั่นว่าการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจะช่วยให้สถานศึกษาในทุกระดับมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย