แม้สถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ ไม่เคยหยุดที่จะสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจของชาติ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงจีรภัทร จันทรัตน์ หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมหัตถการและวิทยาเอ็นโดดอนต์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : ผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะผู้สร้างสรรค์และพัฒนา "กัตตาเคลียร์" สำหรับทันตแพทย์ใช้ในการรักษารากฟันซ้ำ ซึ่งได้มีการต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ "กัตตาเคลียร์" นับเป็นผลงาน "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มากด้วย "คุณค่า" และ "มูลค่า" จากคุณสมบัติพิเศษที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทันตแพทย์ใช้ทำละลายวัสดุคลองรากฟันให้กับผู้เข้ารับบริการรักษารากฟันซ้ำ โดยทำมาจากน้ำมันสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งทดสอบแล้วว่าเป็นอันตรายน้อยมากต่อทั้งผู้เข้ารับบริการ และต่อทันตแพทย์ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังสร้างความพึงพอใจต่อผู้เข้ารับบริการจากกลิ่นหอมพิเศษของซิทรัส หรือกลิ่นพืชตระกูลส้ม จากน้ำมันหอมระเหยที่ใช้เป็นส่วนผสม อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยเป็นทันตเวชภัณฑ์ที่เป็น Organic หรือสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติ 100% นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงจีรภัทร จันทรัตน์ เป็น "อาจารย์ทันตแพทย์นักวิจัย" ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และมีผลงานที่สร้างชื่อเสียงอีกมากมายหลายชิ้นซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทันตกรรมระดับโลกอีกหลายฉบับ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมวิจัยของผลงาน "Mahidol Study" ที่สามารถรักษาฟันตายรากเปิด ทำให้ฟันตายสามารถเจริญต่อไปได้อย่างน่าทึ่ง จากการเข้าร่วมแสดงผลงานในที่ประชุมวิชาการทันตแพทย์ระดับนานาชาติซึ่งต่อมา "Mahidol Study" ได้เป็นที่รู้จักในเรื่องการรักษาฟันปลายรากเปิดจากทันตแพทย์ทั่วโลก โดยมี Mahidol Guideline ในการรักษาฟันตายปลายรากเปิดที่ทันตแพทย์หลายประเทศใช้เป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยแบบ Regenerative Endodontics ซึ่งจากการที่ รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงจีรภัทร จันทรัตน์ ในฐานะหนึ่งในคนไทยคุณภาพ สามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมขึ้นได้เองนี้ สามารถช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการลดการนำเข้าทันตเวชภัณฑ์จากต่างประเทศได้คิดเป็นมูลค่าปีละมหาศาล นอกจากนี้ "กัตตาเคลียร์" ได้รับการจดความลับทางการค้า (Trade Secret) ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และได้มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย และประเทศฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนกำลังอยู่ระหว่างการประสานเตรียมพร้อมบุกตลาดในประเทศแถบเอเชียต่อไป ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล