การพัฒนาเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษ ด้วยการศึกษาลวดลายและสีของผ้ามัดหมี่ ผสมผสานกับเทคนิคการตัดต่อการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ทำให้ผู้สวมใส่มีความสง่างาม และเพิ่มมูลค่าผ้าทอมัดหมี่ในรูปแบบใหม่ๆ เป็นแนวคิดของ อาจารย์เกชา ลาวงษา อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่ต้องการศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าผ้าฝ้ายมัดหมี่ ให้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ โดยการประยุกต์การออกแบบผ้าทอและเครื่องแต่งกายที่เป็นภูมิปัญญาไทย นำมาผสมผสานการพัฒนาลวดลายผ้า ผ่านการนำเสนอกลุ่มสี และวิธีการตัดต่อ ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าบุรุษ สไตล์เมโทรเซ็กชวล สำหรับสุภาพบุรุษวัยทำงาน ช่วงอายุระหว่าง 25 -35 ปี โดยนำไปร่วมการแสดงแฟชั่นโชว์กับดีไซเนอร์ชาว Malaysia, Indonesia, India, Uzbekistan และ Thailand ในงาน GALA DINNER & FASHION SHOW by International & Thai Designers Collection รวมทั้งจัดแสดงในงานภูมิปัญญาไทยในแฟชั่นข้ามวัฒนธรรมที่ยั่งยืน “Thai Wisdom in Sustainable Cross-Cultural Fashion 2563 จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อาจารย์เกชา ลาวงษา กล่าวว่า งานวิจัยนี้ใช้วิธีการออกแบบแนวทางศิลปะการจัดระเบียบให้กับสิ่งรอบตัวมาจัดวางและตัดเย็บในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นวัสดุที่ราคาไม่แพง แต่มีคุณภาพ อย่างผ้าฝ้ายมาถักทอด้วยเทคนิคการมัดหมี่ จนกลายเป็นเสื้อผ้าที่มีลักษณะและการออกแบบรูปทรงที่ทันสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมด้านกรรมวิธีการผลิต และการตัดเย็บ ส่วนการมัดลวดลาย และทอเป็นผืน ได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย หลักสรีระศาสตร์ ความทนทานในตัวผลิตภัณฑ์ การดูแลรักษา ผ่านผลงาน จำนวน 5 ชิ้นงาน ประกอบด้วย เสื้อกั๊ก (Vest) 1 ชุด เสื้อสูท (Suit) 2 ชุด และเสื้อโค้ทตัวยาว (Overcoat) 2 ชุด พร้อมทั้งออกแบบตราสินค้า จำนวน 5 รูปแบบ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ จำนวน 5 รูปแบบ นำไปสำรวจความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ Designer Merchandiser Visual merchandiser Graphic designer และผู้มีประสบการณ์ด้านการทอผ้า จำนวน 30 คน ด้วยวิธีดำเนินการศึกษาโดยใช้แนวคิดจากศิลปะอาร์ตนูโว (Art Nouveau) “ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจต่อการออกแบบเสื้อผ้าบุรุษสไตล์เมโทรเซ็กชวลด้วยวิธีการตัดต่อชุดทุกแบบในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.26) โดยแบบที่มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงสุด 3 แบบแรก คือ เสื้อสูท (Suit) รูปแบบที่ 3 (ค่าเฉลี่ย 4.31) รองลงมาคือ เสื้อกั๊ก (Vest) รูปแบบที่ 1 (ค่าเฉลี่ย 4.29) และเสื้อโค้ทตัวยาว (Overcoat) รูปแบบที่ 4 (ค่าเฉลี่ย 4.27) ส่วนสำหรับผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจต่อความพึงพอใจที่มีต่อ รูปแบบตราสินค้า และบรรจุภัณฑ์พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.30 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดหวังว่าผลิตภัณฑ์และการออกแบบจะสามารถต่อยอดให้กับชุมชนและผู้สนใจ ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการสร้างรายได้ต่อไป และยังเป็นการทำให้ผ้าทอพื้นบ้านเพิ่มมูลค่าไปในตัวผลิตภัณฑ์อีกด้วย” อาจารย์เกชา กล่าว