เกษตรฯ เตรียมพร้อมดันผู้ส่งออก/ผู้ประกอบการฝ่ากฎเหล็ก FSMA ของสหรัฐฯ มกอช.เร่งขอการยอมรับความเท่าเทียมความสามารถการรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรองสินค้าเกษตร-อาหาร หวังลดข้อกีดกัน เพิ่มความคล่องตัวทางการค้า-ส่งออก วันนี้ (27 ธ.ค.60) นายยุทธนา นรภูมิพิภัชน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา เรื่อง “หลักเกณฑ์/เงื่อนไขเพื่อการรับรองระบบงานขอบข่าย PCHF และ PCAF” ซึ่งมีนางสาวศุทธินี อินทรกำแหง ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและรับรองระบบงาน 1 กองรับรองมาตรฐาน (กรร.) กล่าวรายงาน โดยมีผู้แทนหน่วยรับรองจากภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายยุทธนา นรภูมิพิภัชน์ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ตามที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้กฎหมาย Food Safety Modernization Act (FSMA) ฉบับใหม่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2554 และมีผลบังคับใช้เมือ่ปี 2559 ถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายความปลอดภัยอาหารของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี เพื่อควบคุมและจัดการปัญหาด้านปนเปื้อนในอาหาร การเฝ้าระวังและควบคุมสถานประกอบการตลอดห่วงโซ่ และติดตามตรวจสอบย้อนกลับสินค้านำเข้า พร้อมเพิ่มอำนาจให้กับ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Food and Drug Administration : USFDA) ในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆกับผู้ประกอบการ รวมทั้งควบคุมและตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าเข้มงวดมากขึ้น โดยสหรัฐฯได้ประกาศกฎระเบียบย่อยด้านความปลอดภัยอาหารออกมา จำนวน 7 ฉบับ ภายใต้ FSMA ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่านของกฎระเบียบทั้งหมดภายในปี 2562 รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ในจำนวนระเบียบทั้ง 7 ฉบับมีประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทย คือการที่สหรัฐยกเลิกกฎหมายควบคุมการผลิตอาหาร GMP (CFR110) เดิมที่บังคับใช้มากว่า 20 ปี และกำหนดให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น คือ Preventive Control for Human Food (PCHF) สำหรับสถานที่ผลิตอาหารที่ใช้บริโภค และ Preventive Control for Animal Food (PCAF) สำหรับอาหารสัตว์ ซึ่งผู้ผลิตต้องมีการวิเคราะห์และระบุอันตรายเพ่มเติมจาก GMP เดิม และที่สำคัญกำหนดให้มีหัวหน้าผู้ควบคุมการผลิตที่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่กำหนดและได้รับการรับรองจาก USFDA ซึ่งที่ผ่านมา มกอช.ได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกของไทยที่ส่งสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย FSMA และกระตุ้นให้เร่งปรับตัวทางธุรกิจ ปละให้สอดคล้องและรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบต่อการค้าและส่งออกอาหารไปตลาดสหรัฐฯในอนาคต นายยุทธนา กล่าวว่า โดยในปี 2561 มกอช.ได้ขอให้ USFDA เข้ามาฝึกอบรมและขึ้นทะเบียน Lead Instructor ให้แก่หน่วยฝึกอบรมทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 18 แห่งเพื่อให้สามารถฝึกอบรมและขึ้นทะเบียน “หัวหน้าทีมความปลอดภัยอาหารประจำโรงงาน” ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วกว่า 600 คน สร้างความเชื่อมั่นให้กับสหรัฐอเมริกาว่าสถานที่ผลิตอาหารส่งออกของไทยปฏิบัติตามกฎหมายดีงกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ในเรื่องอาหารที่นำเข้า ภายใต้กฎระเบียบ Third Party Certification Program ได้เปิดช่องทางให้มีการยอมรับใบรับรองที่ออกโดยหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรองระบบงานจากหน่วยรับรองระบบงาน (Accraditation Body : AB) ที่สหรัฐให้การยอมรับ อันจะส่งผลให้อาหารที่ผ่านการรับรองสามารถเข้าไปยังสหรัฐในช่องทางพิเศษที่ลดการตรวจสอบซ้ำที่ปลายทาง ช่วยลดปัญหาความล่าช้าที่ด่านนำเข้าของสหรัฐ รวมทั้งลดการกักกันสินค้าที่อาจเกิดขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ มกอช.ในฐานะหน่วยรับรองระบบงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ได้ยื่นสมัครขอการยอมรับความเท่าเทียมการรับรองระบบงานด้านกฎหมาย FSMA กับ USFDA โดยได้จ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร เป็นเงิน 37,935 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,241,237 บาท “ขณะนี้ USFDA อยู่ระหว่างทบทวนข้อมูลใบสมัครและทบทวนเอกสาร จากนั้นทางสหรัฐฯจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินระบบงานของ มกอช. เพื่อพิจารณาให้การยอมรับความเท่าเทียมการรับรองระบบงานกับ มกอช. หากผ่านการประเมินและได้รับการยอมรับความเท่าเทียมการรับรองระบบงานด้านกฎหมาย FSMA จาก USFDA แล้ว มกอช.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรับรองระบบงานในขอบข่าย Preventive Control for Human Food (PCHF) และขอบข่าย Preventive Control for Animal Food (PCAF) ภายใต้ FDA Third-Party Certification Program ได้ราวกลางปี 2561 ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารที่ผ่านการรับรองจากหน่วยรับรอง (CB) ที่ได้รับการรับรองระบบงานจาก มกอช. ทำให้สหรัฐฯมีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯได้สะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งยังลดการตรวจสอบสินค้าซ้ำ ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกด้วย” นายยุทธนา กล่าว รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มกอช.ได้จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “หลักเกณฑ์/เงื่อนไขเพื่อการรับรองระบบงานขอบข่าย PCHF และ PCAF” ให้กับหน่วยรับรองภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เห็นความสำคัญของกฎหมาย FSMA พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองความสามารถของหน่วยรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ขอบข่ายกฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมเชิงป้องกันสำหรับอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ (PCHF/PCAF) ภายใต้องค์การอาหารและยา FDA Third-Party Certification Program ให้หน่วยรับรองสามารถจัดเตรียมองค์กรและดำเนินการได้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์/เงื่อนไขที่กำหนด เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้กฎหมาย FSMA ของสหรัฐ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบภายใน 2 ปีข้างหน้านี้