วันที่ 3 ต.ค.64 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. กล่าวเตือนภัยว่า “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” การลงทุนหรือการเล่นแชร์ออนไลน์ โดยมีลักษณะจูงใจให้ลงทุน โดยการลงทุนน้อยและได้ผลตอบแทนสูง เสี่ยงถูกหลอกและสูญเงิน ส่วนผู้กระทำผิด มีโทษทางอาญาและอาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานฟอกเงิน ซึ่งจะถูกยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย
สำหรับความผิด จะเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ ฯ, พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ฯ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ และประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
1.พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
มาตรา 6 กำหนดว่า ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์ รวมกันมากกว่า 3 วง
(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน
(3) มีทุนกองกลางต่อ 1 งวด รวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่า จำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิ์ที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 17)
มาตรา 9 ห้ามมิให้ ผู้ใดโฆษณาชักชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์ ผู้ใดฝ่าฝืนต้อง ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท(มาตรา 19)
2.พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 12 ผู้ใดกระทำ ความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 500,000 - 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ (พ.ร.ก.การกู้เงินฯ https://bit.ly/3B4qR4q)
3.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ฉ้อโกงประชาชน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) โดยทุจริต หรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชนฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังเป็นหนึ่งในมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับได้มีการระดมสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพก็ได้พลิกแพลงรูปแบบการหลอกลวงเหยื่อไปจากแบบเดิม ๆ จึงขอฝากให้พี่น้องประชาชนใช้ความระมัดระวัง ไม่เชื่อคนง่าย เพราะการลงทุนน้อย ได้ผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันสั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก จึงอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สูญเสียเงิน สูญเสียทรัพย์สินโดยง่าย