ผู้ว่าฯ ลพบุรี ขึ้นบินสำรวจ ติดตามสถานการณ์น้ำ ทั้งลุ่มน้ำป่าสัก และเจ้าพระยา หาวิธีตัดยอดน้ำออกระหว่างทาง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งพื้นที่ตอนบน และตอนล่าง
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.64 กองพันซ่อมบำรุงเครื่องบินทหารบก สนามบินโคกกระเทียม นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลพบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขึ้นอากาศยาน แบบ ฮ.ปภ.32 ของกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย โดยมี พันโท มนต์ศักดิ์ ประเสริฐสังข์ ครูการบินโรงเรียนการบินทหารบก ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้านักบิน ฮ.ปภ.32 ทำหน้าที่ เป็นนักบินที่ 1 และมี ร้อยโท กิตตินันต์ กันทพนท นักบิน หมวดบินโจมตี กองร้อยบินปีหมุนโจมตี กองพันบินที่ 41 กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก ทำหน้าที่เป็นนักบินที่ 2 เพื่อทำการบินสำรวจ ติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของ พายุ "เตี้ยนหมู่" ทั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา อันก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยน้ำหลากและท่วมสะสมเป็นเวลานาน ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี จนต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จากอุทกภัย ครบแล้วทั้ง 11 อำเภอ 91 ตำบล 636 หมู่บ้าน 15 ชุมชน ประชาชนได้รับความ เดือดร้อน 56,200 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ จำนวน 507,583 ไร่
เบื้องต้น คณะได้ทำการบินติดตามปริมาณน้ำที่ยังคงสะสมและท่วมขังในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล
ซึ่งมวลน้ำกำลังไหลลงสู่พื้นที่รับน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตอนบน ไล่ลงมาสูงเขื่อนป่าสักฯ ต่อเนื่องจนถึง พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งแต่ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ลงไปจนถึงเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนทำการบินย้อนกลับขึ้นมาตามคลองชลประทานชัยนาท ป่าสักฯ จากอำเภอท่าเรือ จนถึงอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำมาก ระบายได้ช้า และยังมีบริมาณ น้ำท่วมขังในพื้นที่หลายชุมชนหลายแห่ง ตลอดแนวคลองฝั่งซ้าย ตั้งแต่อำเภอเมืองลพบุรี จนถึงอำเภอบ้านหมี่ โดยใช้ความสูงทำการบินตั้งแต่ 500-1,500 ฟุต โดยใช้เวลาทำการบิน ราว 1 ชั่วโมง 20 นาที
ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ มาบริการจัดการน้ำเพื่อเร่งระบานน้ำที่ท่วมขัง ในพื้นที่ชุมชน และหาวิธีการหน่วงน้ำ และชะลอน้ำในบ้างพื้นที่เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ โดยมอบหมายให้สำนักงานชลประทานลพบุรี พิจารณาเลือกพื้นที่ลุ่มรับน้ำฝั่งขวา ของคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งเกษตรกร ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ทำเป็นทุ่งรับน้ำ เพื่อตั้งยอดน้ำบ้างส่วน ไม่ให้ไหลลงมารวมกันในพื้นที่ท้ายน้ำที่เขื่อนพระราม 6 มากจนเกินไป เนื่องจากมีการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักมาสมทบ ทำให้การระบายน้ำได้ช้ากว่าที่ขาดการณ์ไว้ จึงต้องหาวิธีตัดยอดน้ำออกระหว่างทาง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งพื้นที่ตอนบน และตอนล่างด้วย