ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
[email protected]
“ณ ขณะที่สังคมประเทศของเรากำลังเต็มไปด้วยบริบทของความขัดแย้งอันร้อนร้ายทางด้านทัศนคติ...กระทั่งบังเกิดเป็นสงครามแห่งเจตจำนงที่รุนแรงและทำท่าจะไม่มีจุดจบ...ชีวิตของผู้คนในบริบทที่มืดมนนี้ เต็มไปด้วยเงื่อนไขอันเจ็บปวดของความเป็นศัตรูระหว่างกัน...เบื้องหน้าของการดำรงอยู่...มักจะกลายเป็นสนามรบของอารมณ์ความรู้สึกที่โถมเข้าใส่กันด้วยการประหัตประหารความสงบสันติ...ดูเหมือนว่าจะไกลห่างออกไปจากมิติของความเป็นจริงของการดำรงอยู่...ภาวะดั่งนี้จึงนำมาซึ่งหุบเหวของความบาดหมาง อันหมายถึงโอกาสอันยากลำบากต่อการก่อเกิดสายสัมพันธ์แห่งมิตรไมตรีที่มีหัวใจอันใสสะอาด เป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนหลายๆขณะที่คำพูดอันประเสริฐทั้งหลายทั้งปวง...เป็นได้แค่เพียงถ้อยคำแห่งการลืมเลือน...ท่ามกลางลมหายใจที่แข็งกระด้างและเต็มไปด้วยความขุ่นมัว...ธรรมชาติของความเป็นตัวตนจึงตกอยู่กับความเงียบงันอันน่าเคลือบแคลงของฝันร้ายที่ไม่รู้จบ...และนั่นคือบทสะท้อนอันพร่ามัวของภาวะการณ์ที่ไม่อาจรำงับได้...”
‘ดอกไม้ไม่จำนรรจ์’ (A Flower Does Not Talk) ผลงานเขียนของ ‘เซนไค ชิบายามะ’ พระอาจารย์เซน...สมภารเจ้าอาวาสแห่งอารามนันเซนจิ ณ กรุงโตเกียว...ผู้เป็นอาจารย์เซนที่ดี...อาจารย์ที่ทั้งพูดทั้งเขียน...ทั้งๆที่รู้ดีว่าดอกไม้นั้นทั้งไม่เขียนและไม่จำนรรจ์...
“ดอกไม้เบ่งบานขึ้นอย่างเงียบงัน
และจะหลุดร่วงไปโดยไร้สำเนียง
มาบัดนี้ ณ กาลนี้ และ ณ สถานที่นี้
ดอกไม้ทั้งหมด โลกทั้งหมด
ล้วนเบิกบานขึ้น
นี่คือคำจำนรรจาแห่งดอกไม้
คือสัจจะแห่งการเบ่งบาน
แสงอันเรืองรองแห่งชีวิตนิรันดร์
ได้ฉายฉานลง ณ ที่นี้แล้ว...”
ในความหมายแห่งเซน...เซนได้ประกาศว่า... “การถ่ายทอดโดยเฉพาะเจาะจงอันเป็นไปนอกคัมภีร์และเป็นอิสระจากถ้อยคำ”
แต่อย่างไรก็ดี...บรรดาอาจารย์เซนทั้งหลายกลับเป็นคนที่นิยมชมชอบการพูดและการเขียนทุกชนิด เหตุนี้อาจารย์เซนแทบทุกคนจึงล้วนต่างทิ้งสิ่งที่เรียกว่า ‘วัจนะ’ อันหมายถึงคำพูดของท่านไว้แก่คนรุ่นหลัง...วัจนะดังกล่าวนี้...ล้วนแฝงไว้ด้วยประโยชน์สุขของ...ข้ออรรถธรรมซึ่งเป็นนัยที่อยู่นอกออกไปจากขอบข่ายแห่งความรู้ความเข้าใจตามหลักของเหตุผลอันเป็นธรรมดาของมนุษย์...
“คัมภีร์ไร้อักษร
ช่างบริสุทธิ์และสดชื่น
ดอกไม้ที่ประดับด้วยหยาดน้ำค้าง
ช่างไพเราะเสนาะใส
บทเพลงของหมู่วิหค
เมฆขาวสงบ ธารน้ำส่องประกายสีคราม
ใครเลยที่อาจขีดเขียน
ถ้อยคำที่แท้อันปราศจากอักษร”
ดูเหมือนเหล่าบรรดาอาจารย์เซนจะพึงพอใจที่จะชักนำให้ผู้อ่านเกิดความงุนงงสงสัยจากการกระทำอย่างไร้สาระและการพูดจาอย่างไม่เข้าเรื่องของตัวอาจารย์เอง แต่แท้จริงแล้ว...ทั้งคำพูดและการกระทำที่ไร้เหตุผลเหล่านั้น ล้วนผุดขึ้นมาจากหัวใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและความรัก...โดยท่านต่างมุ่งหวังที่จะเป็นผู้เปิดหนทางอันยิ่งใหญ่ให้แก่ศิษย์...
“คนสามัญวางใจในตน
คนฉลาดวางใจในจุดมุ่งหมาย
หามีความแตกต่างใดๆอยู่ไม่...”
โดยเนื้อแท้...เซนเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณอันมหัศจรรย์ของโลกตะวันออกเป็นองค์คุณแห่งความบริสุทธิ์สะอาดที่มีอยู่ในจารีตประเพณีตลอดมาในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน...ท่าน ‘เซนไค ชิบายามะ’ ได้แสดงความเชื่อว่า...
“เซนเป็นพื้นฐานที่สำคัญ...เป็นสากลและทรงคุณค่า...ในอันที่จะช่วยสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางจิตวิญญาณอย่างใหม่ขึ้นในยุคสมัยของเรา..”
อย่างไรก็ตาม...แม้ว่าท่าน ‘เซนไค ชิบายามะ’ จะได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ผลงานของท่านก็ยังเป็นที่ประจักษ์ถึงความเข้าใจในชีวิตที่ลึกซึ้ง อันเป็นมรดกตกทอดมาถึงคนรุ่นหลัง จุดที่น่าสนใจที่สุดก็คือ...ท่านเป็นผู้มีชีวิตเกี่ยวเนื่องอยู่ในช่วงต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงระหว่างเก่ากับใหม่...ระหว่างอนุรักษ์กับการพลิกกลับระหว่างตะวันออกกับตะวันตก...ระหว่างจิตวิญญาณกับเทคโนโลยี...ซึ่งเห็นจะไม่มียุคสมัยใดที่มีการเผชิญหน้ากันอย่างท้าทายและจริงจัง...ระหว่างกระแสอารยธรรมตะวันออกและตะวันตก ดังเช่นในยุคสมัยที่ท่านได้ผ่านวันเวลาในชีวิตมา...
“โลกทั้งมวลล้วนปราศจากฝุ่นธุลี
ใครเลยจักไม่อาจตื่นขึ้น
ในคราแรก”
หนังสือเล่มนี้ถูกแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย ‘พจนา จันทรสันติ’ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2520...มาแล้วเสร็จเอาในช่วงตอนต้นๆของปี พ.ศ. 2521..44 ปีล่วงมาแล้ว...ซึ่งก็มีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นส่วนผลักดัน แรงกระตุ้นผลงานในภาคภาษาไทยชิ้นนี้บอก..เหตุการณ์ที่ ‘พจนา’ ได้ยืนยันถึงว่า..มันเป็น “ภาพสะท้อนแห่งความสับสนในจิตวิญญาณของมนุษย์ทั้งอคติ มายาคติ และได้ภยาคติ ที่ได้เข้ามาบดบัง จนทำให้คนสามารถกระทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันว่า...คนจะสามารถทำต่อคนด้วยกันได้”...นั่นจึงเป็นเหตุให้...ปัญญาชนเป็นจำนวนมากพากันสูญสิ้นความศรัทธาในตัวคนด้วยกัน รวมทั้งได้เกิดคำถามต่างๆขึ้นมากมาย โดยเฉพาะคำถามที่มุ่งถามถึงว่า...ความถูกต้องนั้นหายไปไหน...มนุษยธรรมหายไปไหน หรือในอีกความหมายหนึ่ง...มนุษยธรรมและคุณธรรมได้สูญสิ้นไปจากใจของมนุษย์ โดยเฉพาะในจิตใจของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นชาวพุทธกระนั้นหรือ...
“ดอกไม้เบ่งบานขึ้นอย่างเงียบงัน
และหลุดร่วงไปโดยไร้สำเนียง
มาบัดนี้ ณ กาลนี้ และ ณ สถานที่นี้
ดอกไม้ทั้งหมด โลกทั้งหมด
ล้วนเบิกบานขึ้น
นี่คือคำจำนรรจาแห่งดอกไม้
คือสัจจะแห่งการเบ่งบาน
แสงอันเรืองรองแห่งชีวิตนิรันดร์
ได้ฉายฉานลง ณ ที่นี้แล้ว...”
‘ดอกไม้ไม่จำนรรจ์’ (A Flower Does Not Talk)...คือหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่คนในสังคมของเราจำเป็นต้องแสวงหาเพื่อการสัมผัสอย่างลึกซึ้งในยามนี้...ยามที่มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนกันในเชิงภูมิปัญญา...เพื่อความอยู่รอดทางสังคม...ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังยึดติดอยู่กับคุณค่าอันจอมปลอมของระบบสังคมที่มีอำนาจแห่งเงินตราและอำนาจของการข่มเหงรังแกเป็นแรงกระตุ้น...กลุ่มคนที่มีวงจรชีวิตในลักษณะนี้...ต่างกระหายที่จะเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายในคราบร่างของความเจริญ ความมั่นคง หรือความมั่งคั่ง...ก่อเกิดเป็นความโลภโมโทสันที่พุ่งเป้าสู่การเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...หนังสือเล่มนี้จะกล่อมเกลาจิตใจให้ผู้สัมผัสสามารถค้นพบรากเหง้าเดิมทางความคิดและสภาวะแห่งจิตวิญญาณที่คาบเกี่ยวอยู่กับภาษาสื่อสารอันลึกล้ำ...นำพาให้เราสามารถกลับไปสู่แก่นรากของชีวิต และธรรมชาติอันหยั่งลึกของความสะอาด สว่าง สงบ ภายใต้นัยเซนมุ่งที่จะปลุกปัญญาที่นอนหลับใหลอยู่ในตัวเรา ภายใต้เมฆหมอกหนาทึบแห่งอวิชชาและกรรมให้ตื่นขึ้น...เพราะทั้งอวิชชาและกรรมนั้นล้วนเกิดมาจากการที่เรายอมจำนนต่อความคิดอ่าน ความเฉลียวฉลาดของเราเอง แต่เซนนั้นเป็นการปฏิวัติต่อระบบความคิดที่สืบต่อกันมา...เช่นนั้น” นั่นคือปฐมบทแห่งบทพิสูจน์ที่ยืนยันถึงว่า...ศิลปะของเซนย่อมดำรงอยู่ ณ จุดที่...ทั้งความงามและความน่าเกลียดล้วนงดงามเฉกเช่นกัน...
“ขุนเขาสูงตระหง่าน แมกไม้เขียวขจี
หุบเหวล้ำลึก...ธารน้ำสะอาดใส
สายลมบางเบา ดวงจันทร์สงบล้ำ
อย่างสงบงัน ข้าพเจ้าอ่าน
ถ้อยคำที่แท้ ซึ่งไร้อักษร”
เป็นดั่งนี้...เหตุใดเล่าจึงต้องเปลือยให้ชีวิตกลัดกลุ้ม...จงมองดูหลิวริมฝั่งน้ำ มันดำรงอยู่ที่นั่น...เฝ้ามองสายน้ำหลั่งไหล..........