สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยความคืบหน้าการจัดทำ “THAI STAT” Mobile Application เปิดให้บริการในระบบ android คาดภายในเดือนมกราคม2561 สามารถให้บริการเต็มรูปแบบ พร้อม “ทบทวนเศรษฐกิจ สังคมไทย ก่อนก้าวสู่ปีใหม่ 2561” ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 2 ฝั่งใต้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี กรุงเทพฯ
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีภารกิจหลักด้วยกัน 3 ด้าน คือ ด้านการผลิตข้อมูลสถิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ปีละ 20-30 โครงการ ด้านการให้บริการข้อมูลสถิติและสารสนเทศ ในยุคดิจิทัลการเข้าถึงข้อมูลสถิติได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น สำนักงานสถิติ แห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดทำ Mobile Application มีชื่อเรียกว่า “THAI STAT” บนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นการพัฒนาระบบปฏิบัติการ Android เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดที่สำคัญของประเทศ และของจังหวัดต่างๆ นำเสนอข้อมูลสถิติ เช่น ประชากร แรงงาน รายได้และรายจ่ายของครัวเรือน การศึกษา เป็นต้น ในรูปแบบของกราฟ รายงาน และ Infographic ด้วยเมนูหลัก 6 เมนู ประกอบด้วย ข้อมูลสำคัญ ข้อมูลจังหวัด Infographic ปฏิทินข้อมูล แนะนำการใช้งาน และติดต่อเรา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบ จะพร้อมเปิดให้ download จาก Play store ภายในเดือนมกราคม 2561
ในขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังมีช่องทางไว้ให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบสถิติเป็นการ บูรณาการข้อมูลสถิติจากหน่วยงานภาครัฐ 20 กระทรวง 200 กรม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันได้ สำหรับสถิตินั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น การวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักเด็กแรกเกิด และเก็บข้อมูลทุกเดือนเพื่อดูพัฒนาการของเด็กเมื่อเข้าโรงเรียน เก็บข้อมูลการเรียนในแต่ละวิชา เข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องดูสถิติของคณะที่เลือก ในวัยทำงานก็ต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เป็นต้น สำหรับเศรษฐกิจ สังคมไทย ก่อนก้าวสู่ปีใหม่ พ.ศ. 2561 มีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
โครงสร้างแรงงานไทย สถานการณ์ด้านแรงงานในปี 2560 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.54 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.60 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ผู้รอฤดูกาล 2.14 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 17.70 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น การจ้างงานโดยรวม ลดลงร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 (จาก 11.75 ล้านคน เป็น 11.73 ล้านคน) เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่นอกภาคเกษตรกรรมในช่วงภัยแล้งต่อเนื่องของปี 2557-2559 สำหรับปี 2560 ในหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งออกจากกำลังแรงงานเนื่องจากเข้าสู่วัยสูงอายุและการทดแทนแรงงานใหม่ลดลง ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลง โดยการจ้างงานในอุตสาหกรรมลดลงจากภาคการผลิตและก่อสร้าง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี ถึงแม้ว่าตลาดแรงงานของประเทศจะมีอัตราการว่างงานที่น้อยก็ตาม แต่ยังมีคนอีกกลุ่มถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีงานทำก็จริง แต่มีชั่วโมงการทำงานน้อย คือ ทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีความต้องการที่จะทำงานเพิ่มอีกเพื่อหารายได้ให้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว หรือเรียกว่า ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับด้านชั่วโมงการทำงาน โดยปี 2560 มีจำนวน 2.56 แสนคน หรือร้อยละ 0.7 หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จะพบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในทุกระดับมีจำนวนเพิ่มขึ้น และจากจำนวนผู้ว่างงาน 4.60 แสนคน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 2.34 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 2.26 แสนคน
ด้านรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือน จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย พบว่าครัวเรือนไทยทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ย 26,973 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,897 บาทต่อเดือน โดยรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเกือบทุกภาคและทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งอัตราการเพิ่มของรายได้ ร้อยละ 0.1 น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ทำให้ในปี 2560 ครัวเรือนมีรายได้ส่วนหนึ่งเหลือเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ และการออม จำนวน 5,076 บาทต่อเดือน และเมื่อเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในรอบ 11 ปี (2550–2560) พบว่า หนี้สินต่อรายได้ในปี 2554 และ 2558 ต่ำสุดคือ 5.8เท่า แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 เท่าในปี 2560 โดยมีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่ครัวเรือนใดที่มีรายได้สูง จะมีค่าใช้จ่ายและหนี้สินสูงตามเช่นเดียวกัน สำหรับหนี้นอกระบบของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 6.2 ในปี 2560 และมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 เป็นร้อยละ 4.6
ขณะที่การออมภาคครัวเรือน คือเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพที่ครัวเรือนสามารถนำไปเก็บออมในรูปแบบต่างๆ โดยครัวเรือนมีรูปแบบในการออมหลายรูปแบบด้วยกันได้แก่ การออมไว้เป็นเงินสด เงินฝาก กองทุนต่างๆ หรือนำไปลงทุนเพื่อหวังกำไร สำหรับรายได้ ค่าใช้จ่าย และเงินออมของครัวเรือนไทย
ด้านการใช้ ICT ของครัวเรือน แนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปในช่วงระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2556-2560 พบว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ลดลง จากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 30.8 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.9 เป็นร้อยละ 52.9 ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 73.3 เป็นร้อยละ 88.2 ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูง ร้อยละ 93.7 ใช้ PC ร้อยละ 45.5 ใช้ Notebook ร้อยละ 20.8 และ Tablet ร้อยละ 10.2 ซึ่งประชากรกลุ่มอายุ 15-24 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุดที่สุด ร้อยละ 89.8 และส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ใช้ Social Network ร้อยละ 94.0
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบ 3 ปี ตามที่รัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน โดยมุ่งมั่นพร้อมขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดี สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 การดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล ประชาชนสูงกว่าร้อยละ 90 ทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ประชาชนสูงกว่าร้อยละ 50 มีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาลอยู่ในระดับ มาก-มากที่สุด และมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของรัฐบาลอยู่ที่ 7.01 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ทั้งนี้ ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภคไม่ให้มีราคาแพง อย่างเร่งด่วน และให้ข้อคิดเห็นว่าควรมีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ดีกว่านี้เป็นอันดับแรก พร้อมด้วยข้อเสนอแนะให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริหารงาน/นโยบายของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน อีกทั้งควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวดเร็ว และต่อเนื่อง รวมทั้งควรมีการทำงานเชิงรุก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
การให้บริการข้อมูลสถิติ และสารสนเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติให้บริการข้อมูลสถิติแก่ผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลสถิติสำคัญที่ให้บริการนั้น ประกอบด้วย ข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติผลิตเอง ทั้งประเภทข้อมูลสถิติและระดับย่อย (Microdata) และยังมีข้อมูลสถิติที่รวบรวมมาจากหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งทางสถิติเองได้รวบรวมเป็นประจำโดยเผยแพร่ในรูปแบบเอกสารรายงาน ตารางสถิติ ซีดีรอม ภูมิสารสนเทศสถิติ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์(E-book) ผู้ให้บริการสามารถติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานสถิติแหงชาติ และสำนักงานสถิติจังหวัดทุกจังหวัด เว็บไซต์ www.nso.go.th และ Mobile Application
การให้บริการข้อมูลสถิติรูปแบบภูมิสารสนเทศสถิติผ่านระบบภูมิสารสนเทศ (NSO-GIS) เพื่อใช้ในการ ปฎิบัติงานสถานเก็บรวบรวมข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือที่เรียกว่า GIS (Geographic Information System) เดินเป็นการทำแผนที่ในรูปแบบกระดาษ ปัจจุบันได้พัฒนากระบวนการจัดทำเป็นแผนที่ดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซี่งระบบ NSO-GIS นำเสนอข้อมูลจากการสำมะโนและสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยผู้สนใจสามารถเข้าใช้งานได้ที่เว็บ statgis.nso.go.th/d