นักวิชาการแนะโรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านการระบายอากาศ จัดพื้นที่รับประทานอาหารกลางวันที่เว้นระยะห่าง และย้ำให้นักเรียนใส่หน้ากากให้มิดชิดตลอดเวลา ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังโรงเรียนเปิด"ในพื้นที่ ทุกอย่างต้องชัดเจนว่าต้องมีระยะห่างและมีการระบายอากาศที่ดี
ผศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันเทคโนยีแห่งเอเซีย (AIT) และนายธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมบริษัทชั้นนำ เจ้าของเพจ เรื่อง Airborne มองจากมุมวิศวกร ได้กล่าวในการบรรยายออนไลน์ เรื่อง "Covid is Airborne แกะรอยโควิด-19 ละอองลอยคือตัวการ" ทางเฟซบุ๊กเพจ Zero C Thailand เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า
โดย ผศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าวว่า "ในพื้นที่ ทุกอย่างต้องชัดเจนว่าต้องมีระยะห่างและมีการระบายอากาศที่ดี ผมค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับช่วงการทานอาหาร บางโรงเรียนอาจให้รับประทานอาหารในห้องเรียนเลย ถ้าเป็นไปได้ อาจจะแบ่งช่วงเวลา ห้องนี้ทานก่อน ไปพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เปิดแล้วให้เด็กนั่งแยกกันหน่อย ช่วงเวลาอาหารกลางวัน เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะนักเรียนจะถอดหน้ากาก"
นายธนะศักดิ์เห็นด้วยและยกตัวอย่างแนวทางและคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และความรู้ที่มีเกี่ยวกับโควิด-19 ว่า โรงเรียนควรกำหนดให้ใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างในจุดบริการอาหาร ให้นักเรียนห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุตขณะรับประทานอาหาร และทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อปรับปรุง "การระบายอากาศ" ซึ่งรวมถึงการใช้พื้นที่กลางแจ้ง
"CDC (ของสหรัฐอเมริกา) และอังกฤษแนะนำให้แบ่งชั้นเรียนเป็นห้องเล็กๆ ความจริงก็คือการเว้นระยะห่างนั่นแหละ มีอยู่ช่วงหนึ่งรัฐบาลอังกฤษบอกว่าเข้าเรียนไม่ต้องใส่หน้ากาก หลังจากนั้นก็กลับมาบอกว่าให้ใส่หน้ากากดีกว่า ดังนั้นไม่ต้องคิดมากเลยครับ ใส่หน้ากากทั้งคุณครูและนักเรียนเลย ในการสอนของคุณครูให้ใช้การขยายเสียงเพื่อลดการเปล่งเสียง คุณครูกับเด็กเว้นระยะห่าง 2 เมตร ของเด็กๆ นี่ จัดห้องไม่ได้หรอก ได้เมตรหนึ่งก็เก่งแล้ว อาจจะมีที่ทำได้เพิ่มเติมคือ นั่งหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน อย่าให้หันตั้งฉากกัน" นายธนะศักดิ์ กล่าว
"เรื่องการระบายอากาศ ไปๆ มาๆ โรงเรียนที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศปลอดภัยกว่า แต่ต้องเป็นอากาศธรรมชาติ เปิดหน้าต่าง หากเปิดหน้าต่างแล้วลมไม่พัดก็เปิดพัดลมข้างในให้อากาศขยับเขยื้อน โรงเรียนที่เป็นห้องแอร์ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ผมเรียกว่ากำลังเดินเข้าสู่ความเสี่ยงสูงสุด ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็เปิดประตู หน้าต่าง ยอมจ่ายค่าไฟเพิ่มหน่อย ติดพัดลมดูดอากาศเพิ่มไปหน่อย เพิ่มระบบฟอกอากาศ หรือเพิ่มระบบเติมอากาศ"
นายธนะศักดิ์ย้ำอีกด้วยว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกมีอาการ ต้องให้หยุดเรียนและแยกกักตัวทันที ไม่ใช่มองว่าลูกมีอาการนิดหน่อยแล้วให้ลูกไปโรงเรียน เพราะผลกระทบจะหนักมาก
"แม้ว่าเด็กติดเชื้ออาการจะไม่หนัก แต่จะเป็นจุดเพิ่มการระบาด พอเริ่มระบาดเด็กต่อเด็ก ต่อไปยังผู้ปกครองได้ ที่อังกฤษมีการคาดการณ์ว่าหลังจากโรงเรียนเปิดจะเกิดการระบาดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ตัวเลขในโรงเรียนนะครับแต่เป็นตัวเลขในชุมชน"
ผศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าวย้ำถึงการปฏิบัติตัวนอกโรงเรียนด้วย เช่น การที่นักเรียนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะหรือระหว่างกลับบ้าน นักเรียนและผู้ปกครองได้แวะไปตามสถานที่ต่างๆ ก่อนกลับบ้าน "นอกเหนือจากการที่ครูและนักเรียนต้องได้รับวัคซีนที่เหมาะสมแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด"
“ทุกคนอยากให้เปิดโรงเรียนครับ เราทราบปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากผลของการปิดโรงเรียน ไม่ว่าสภาพการเหลื่อมล้ำของเด็กแต่ละบ้าน สภาพการเรียนรู้ที่ถดถอย สภาพจิตใจของเด็ก ครู และผู้ปกครองปัญหาอื่นๆมากมาย ฯลฯ หรือปัญหาที่เด็กในบ้านเราส่วนนึง ที่เคยฝากมื้อกลางวันไว้กับอาหารฟรีที่โรงเรียนเพียงช่วยกันดูแลให้การกลับมาเปิดโรงเรียนใหม่อีกครั้ง มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยควรมีมาตรการในการลดความเสี่ยงที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เข้าใจสาเหตุการแพร่ระบาด เข้าใจว่าโควิดแพร่ทางอากาศ" นายธนะศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม