ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่อึดใจนี้แล้ว สำหรับ “กองทัพอวกาศสหรัฐ” (United States Space Force : USSF) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ภายหลังจาก “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ” จรดปากกาลงนามใน “รัฐบัญญัติที่ว่าด้วย การจัดการอำนาจความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ “เอ็นดีเอเอ” เพื่อที่จะสถาปนากองทัพใหม่นี้ขึ้น ณ ฐานทัพร่วมเรือ-อากาศแอนดรูว์ส” รัฐแมริแลนด์ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2019 (พ.ศ.2562) ส่งผลให้ “กองทัพอวกาศ” เป็นเหล่ากองทัพที่ 6 ในฐานะรั้วของชาติ รักษาความมั่นคงของประเทศสหรัฐฯ ร่วมกับเหล่ากองทัพอื่นๆ อีก 5 เหล่าที่ปฏิบัติหน้าที่ข้างต้นไปก่อนหน้า คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองกำลังนาวิกโยธิน และกองกำลังยามฝั่ง ในกำกับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ก็ถือเป็นกองทัพใหม่ของสหรัฐฯ ในรอบ 72 ปี หรือ 6 รอบนักษัตร ที่รัฐบาลวอชิงตัน ทางการสหรัฐฯ สถาปนาขึ้น ทั้งนี้ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามสถาปนา ทางกองทัพอวกาศ ก็ได้เริ่มจัดเตรียมทดสอบ ทั้งกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนระบบทั้งหลาย ในอันที่จะให้เป็นกองทัพที่ทรงประสิทธิภาพ สมรรถนะ หลังแยกตัวมาจาก “กองทัพอากาศ” เพื่อสร้างความพร้อม ก่อนที่จะดีเดย์เปิดอย่างเป็นกองทัพอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 1 ต.ค.นี้ หลังจากที่ได้เปิดตัวชุดยูนิฟอร์มของกำลังพลกองทัพอวกาศเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งในระหว่างที่จัดเตรียมการต่างๆ หลังอดีตประธานาธิบดีทรัมป์จัดตั้ง ก่อนที่จะเปิดเป็นทางการนั้น ทาง “กองทัพอวกาศ” ก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ “พล.อ.อ.จอห์น ดับเบิลยู. เรย์มอนด์” ผู้ดำรงตำแหน่ง “ผบ.ทอ.” แบบนั่งเก้าอี้ควบตำแหน่ง “ผบ.กองทัพอวกาศ” ไปด้วยพลางๆ ก่อน โดยมีสายลำดับบังคับบัญชาการ ณ เวลานี้ ก็คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เป็นผู้บัญชาการสูงสุด ในฐานะจอมทัพ ถัดจากนั้นก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งปัจจุบัน ได้แก่ นายลอยด์ ออสติน แล้วต่อด้วย รัฐมนตรีทบวงทหารอากาศ ปัจจุบันคือ นายจอห์น พี.ร็อท เป็นรักษาการแทนตำแหน่งนี้ ส่วน “หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการทางอวกาศ”อันเปรียบได้กับ “ผู้บัญชาการ” หรือ “ผบ.” ของ “กองทัพอวกาศ” ก็ยังเป็น “พล.อ.อ. จอห์น ดับเบิลยู. เรย์มอนด์” เช่นเดียวกับตำแหน่ง “รองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการฯ” ก็ยังเป็น “พล.อ.อ.เดวิด ดี.ทอมป์สัน” ที่นั่งตำแหน่งนี้ ตั้งแต่สมัยที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามจัดตั้งกองทัพอวกาศนี้ขึ้นมาใหม่ๆ ทางด้านกำลังพลนั้น ก็ประกอบด้วยฝ่ายทหารและพลเรือน รวมแล้วราว 16,000 นาย ในเบื้องต้นนี้ ประจำการในหน่วยฐานทัพต่างๆ 15 หน่วยทั่วโลก แบ่งเป็นทางการทหาร 319 แห่ง และพลเรือน 259 แห่ง ซึ่งกำลังพลทั้งที่เป็นทหารและพลเรือนนั้น ก็มาจากกองทัพเหล่าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และนาวิกโยธิน ที่โยกย้ายมาประจำการในกองทัพอวกาศแห่งนี้ โดยมีเงื่อนไขการมาว่า จะต้องมาโดยสมัครใจ ไม่มีการถูกเกณฑ์บังคับมา ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นกำลังพลที่ตั้งใจทำงานให้แก่กองทัพแห่งใหม่กันโดยแท้ ส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เบื้องต้น ก็โยกย้ายมาจากกองทัพต่างๆ เช่น ดาวเทียม ยานอวกาศ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการโยกย้ายทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ นั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ก.ค.ที่ผ่านมาแล้ว พร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพ สมรรถภาพของกำลังพลทั้งหลาย และการสั่งการบัญชาการต่างๆ กันด้วย โดยเสร็จสิ้น บรรลุผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทางด้านภารกิจหลักๆ ของกองทัพอวกาศนี้ ก็ไม่ใช่การส่งกำลังพลไปท่องอวกาศ เพราะนั่นเป็นเรื่องขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา แต่กองทัพอวกาศจะทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในอวกาศ เช่น ดาวเทียมสารพัดชนิดที่สหรัฐฯ มีจำนวนหลายร้อยดวง ที่โคจรในชั้นบรรยากาศ ที่ปฏิบัติภารกิจด้านการสำรวจ การเก็บข้อมูล และการสอดแนม เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในทุกๆ ด้านของกองทัพสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้มีความก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นอีกขั้นในการจัดการกองทัพในฐานะมหาอำนาจโลกที่มีความยิ่งยงในทางการทหารด้วย