ในปัจจุบัน พบคนไทยแพ้อาหารมากขึ้น จากปัจจัยด้านพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแพ้อาหาร ที่มีส่วนประกอบของนมวัว ไข่ และแป้งสาลี โดยการแพ้ไข่ มีรายงานเพิ่มขึ้นถึง 1.3% ในเด็ก และ 0.2% ในผู้ใหญ่ สำหรับคนที่สงสัยว่าตนเองแพ้ไข่หรือไม่ พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลนวเวช ได้มาให้คำตอบในเรื่องนี้ การทดสอบว่าคนไข้มีการแพ้ไข่จริงหรือไม่ พิจารณาจากประวัติการกินไข่ การทำ Skin prick test หรือ การตรวจเลือดหาภูมิที่จำเพาะต่อโปรตีนในไข่ (Blood test for specific IgE) ไปจนถึงการทำการทดสอบโดยการกินไข่ (Oral challenge test) ซึ่งคนไข้ที่แพ้ไข่ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ มีอาการแพ้รุนแรงถึงระดับใด ก็สามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตามช่วงอายุและประจำปีได้อย่างปลอดภัย โดยคนไข้ที่มีประวัติแพ้ไข่ ชนิดอาการเฉียบพลันรุนแรง ที่มากกว่าผื่นลมพิษ (เช่น อาการบวมชนิด Angioedema, หายใจลำบาก, สัญญาณชีพผิดปกติ, อาเจียนรุนแรง) เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเฝ้าสังเกตอาการนานกว่าปกติ (มากกว่า 30 นาทีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบฉีด หรือพ่นจมูก มีส่วนประกอบของโปรตีนจากไข่ คือ ovalbumin เพียงเล็กน้อย ซึ่งพบอาการแพ้รุนแรงชนิด anaphylaxis ตามหลังการฉีดวัคซีนเพียง 1.31 ใน 1 ล้านโดสเท่านั้น แต่ในคนไข้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดอาการรุนแรง หรือมีข้อบ่งชี้แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนในครั้งถัดไป ทั้งนี้สามารถขอรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร.02-483-9999 หรือ www.navavej.com