นักเคลื่อนไหวประชาชนภูมิภาคอาเซียนยังถูกละเมิดสิทธิ แนะรัฐบาลแต่ละประเทศ ควรเคารพหลัก หลังพบถูกกระทำโดยรัฐบาล และกลุ่มผู้มีอำนาจในประเทศ ทั้งนี้นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ในงานเสวนาสัปดาห์สิ่งแวดล้อมอาเซียน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ว่าอยากเรียกร้องให้ รัฐบาลประเทศอาเซียน เคารพหลักสิทธิมนุษยชน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.รัฐบาลต้องคอยดูแล และกำกับภาคธุรกิจ ภาคการลงทุน ที่เข้าไปสร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ 2.รัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการทรมาน กดดัน หรือออกกฎหมายต่อนักเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นธรรม 3.ควรให้สิทธิความเสมอภาพเท่าเทียมต่อสตรี เพราะบางประเทศ เสียงของผู้หญิงยังถูกมองข้ามละเลย และ 4.รัฐบาลในประเทศอาเซียน ต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างเท่าเทียม เพราะจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังเกิดภาพการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความเหลื่อมล้ำ และเกิดช่องว่างระหว่างคนจน และคนรวยชัดเจน
นางอังคณา ยังกล่าวถึง ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในลาว ว่าทำให้ประชาชนในพื้นที่เดิม ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน หลังรัฐบาลมีการอนุมัติ พร้อมทั้งยังกล่าวถึง ประเด็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ในอาเซียน ที่ถูกบังคับสูญหาย อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อาทิ กรณี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ วัย 37 นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่หายตัวไปในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ปี 2563 นายอ็อด ไชยวงศ์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวลาว ที่หายตัวไปใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ระหว่างรอการลี้ภัยไปประเทศที่ 3 และกรณี นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ นักเคลื่อนไหวด้านการเมือง ที่ถูกฆาตกรรม พบศพในแม่น้ำโขง หลังลี้ภัยข้ามไปกบดานในลาว
ดร.วอลเดน เบนโล Dr.Walden Bello อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นต่อการถูกละเมิดสิทธิ์ของประชาชนอาเซียน ว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง “ผมคิดว่า ปัญหาของอาเซียน เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สนใจ จะออกมาตรการช่วยเหลือ กำกับดูแล ปัญหาสิทธิด้านต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ ผมคิดว่า ก็เหมือนกันทุกประเทศ คืออยากดำรงสถานภาพของตนเองไว้ เพื่อให้อยู่ในผลประโยชน์ ขณะที่ภาคประชาสังคม ที่ทำงานกดดัน และผลักดันให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเรื่องการละเมิดสิทธิด้านต่างๆ บางประเทศก็อ่อนแอ บางประเทศก็เข้มแข็ง และเราแทบจะไม่ได้ประสานงานร่วมกันเท่าที่ควร ภาคประชาสังคมในแต่ละประเทศควรร่วมมือกันล็อบบี้ และผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง” ดร.วอลเดนกล่าว และว่า การร่วมมือของประเทศอาเซียนที่ช่วยเหลือกันค่อนข้างล้มเหลว ยกตัวอย่าง ปัญหาทะเลจีนใต้ ที่จีนพยามเข้ามาอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของ จากประเทศเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่จับมือรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาเซียน ต่างก็นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ ไม่ให้การช่วยเหลือเจรจา
นาย Kong Sombicheat ผู้แทนองค์กร Social Action for Community and Development ประเทศกัมพูชา กล่าวว่าอยากเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นเยาวชนในอาเซียน ที่ปัจุบัน แทบจะไม่มีสิทธิ์ออกแบบอนาคตในชีวิตของตนเอง นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม และการเมืองถูกคุกคาม ถูกจับอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยามที่จะติดตาม จัดการนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ และปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศกัมพูชา แต่รวมทั้งไทย และพม่าด้วย โดยในพม่าตอนนี้ เรียกได้ว่า เยาวชนทุกคนไร้สิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง และในนามเยาวชน เราไม่ต้องการสิ่งนี้ ที่ผ่านมา ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเยาวชน
“ในการประท้วงที่พม่า เยาวบางคนถูกฆ่าตาย ถูกดับความฝัน และอนาคตอย่างสิ้นเชิง อยากให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ให้ความสำคัญกับเยาวชนให้มาก เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง”