แบ่ง 3 ระยะเพื่อความปลอดภัย ชี้ให้เสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.64 ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และ โฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงแนวทางและหลักเกณฑ์การเปิดสถานที่ทำการของสถาบันอุดมศึกษา โดยเตรียมเปิดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในเดือน พ.ย.2564 ว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 เริ่มคลี่คลายดีขึ้น รัฐบาลได้กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม รวมถึงการใช้อาคารสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยให้มีการประเมินร่วมกันกับทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือน พ.ย.64 อนุญาตเฉพาะคณาจารย์ บุคลากร นักวิจัย และนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาปฏิบัติงานจัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษา
ส่วนระยะที่ 2 เดือน ธ.ค.64 กำหนดจำนวนผู้ที่เข้ามาในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษา โดยคำนึงถึงการป้องกันการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันของผู้ปฏิบัติ เช่น มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 90 ของบุคคลทั้งหมดที่เข้ามาในสถาบันอุดมศึกษา และระยะที่ 3 เดือน ม.ค.65 กำหนดจำนวนของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่สถาบันอุดมศึกษา โดยระยะที่ 1 กำหนดไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในสถานการปกติ ระยะที่ 2 ไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในสถานการปกติ และระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของของภาครัฐหรือพื้นที่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าว รมว.อว.ได้ประชุมหารือร่วมกับตัวแทนอธิการบดี ทั้ง 4 ทปอ. ผ่านระบบออนไลน์แล้ว พร้อมมอบนโยบายเน้นย้ำให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังสูงสุด โดยต้นเดือน พ.ย.64 สถาบันอุดมศึกษาสามารถเปิดได้ และอธิการบดีแต่ละพื้นที่สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม
เลขานุการ รมว.อว. และ โฆษก อว. กล่าวต่อว่า ส่วนการเข้ามาปฏิบัติงาน จัดการเรียนการสอน หรือทำกิจกรรมกลุ่ม ได้มีการจำแนกตามพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่เกินกลุ่มละ 25 คน พื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่เกินกลุ่มละ 50 คน พื้นที่ควบคุม ไม่เกินกลุ่ม 100 คน พื้นที่เฝ้าระวังสูง ไม่เกินกลุ่มละ 200 คน และพื้นที่เฝ้าระวัง ไม่เกินกลุ่มละ 500 คน ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาสามารถกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติมหรือลดหย่อนเกณฑ์บางอย่างได้ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษาเป็นสำคัญ
“การตัดสินใจเปิดสถาบันอุดมศึกษา อยู่ที่การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมและให้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสร้างสรรค์ การเรียนรู้ทั้งแบบ ออนไซต์และออนไลน์ ส่วนการจัดการเรียนการสอนจะต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ปรับรูปแบบกิจกรรมมุ่งสู่วิถีชีวิตแนวใหม่” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว