นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (สศท.) หรือ sacit จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ.2564 มีภารกิจในการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจและอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคปัจจุบัน นายสินิตย์ กล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้ สศท. เร่งพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ได้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเน้นคุณภาพและสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัย สามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้จดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่น เพื่อให้มีมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ มีฐานการผลิต ที่มีคุณภาพและมีจำนวนการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในราคาที่แข่งขันได้ เพื่อสามารถขยายกลุ่มผู้บริโภคไปยังวงกว้างมากขึ้น ด้านการตลาด การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำตลาดที่เน้นความทันสมัยและเสริมตลาดออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำการตลาดเชิงรุก ขยายช่องทางการค้าสู่ช่องทางดิจิทัล โดยพัฒนาและบริหารแพลตฟอร์มการค้าสำหรับงานศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเชื่อมต่องานศิลปหัตถกรรมไทยสู่ตลาดโลก ผ่านแพลตฟอร์ม “Thai Crafts Online : ไทยคราฟต์ออนไลน์” รองรับ E-Commerce แห่งชาติ และการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้ากับพันธมิตรต่างประเทศในลักษณะการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ด้านการสืบสานอนุรักษ์ เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝีมือเชิงช่างอันทรงคุณค่าและเป็นอัตลักษณ์ของชาติให้คงอยู่คู่สังคมไทย ผ่านการส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ครูฯ และทายาทฯ ให้เกิดการสืบทอดต่อไปยังคนรุ่นใหม่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เร่งสร้างผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีคุณภาพ พัฒนาทักษะฝีมือ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดทักษะในการเจรจาค้าขายและส่งออก ด้านการบริหารธุรกิจ บัญชี ดิจิทัล และการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้ภาษาที่สองในการเจรจาต่อรอง ด้านการบริหารจัดการวัฒนธรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ และบริหารจัดการวัฒนธรรมที่ส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่องานศิลปหัตถกรรมไทย (Cultural Management) คนรุ่นใหม่และสังคมมีมุมมองใหม่และทัศนคติที่ดี เข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย ร่วมสมัย ก่อเกิดวัฒนธรรมแห่งความภาคภูมิใจ เกิดกระแสความนิยมใช้ ยอมรับสนับสนุนในงานศิลปหัตถกรรมไทย สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เกิดการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป นายสินิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สศท. จะเป็นองค์กรเพื่องานศิลปหัตถกรรมไทยของประเทศอย่างแท้จริง ให้ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเกิดความเข้มแข็ง เกิดการสืบสาน ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้กลับมาสู่ชุมชนต่อไป