สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์ ในคราวที่มีการสร้าง "พระหลวงปู่ทวดเนื้อโลหะ" ที่เรียกกันว่า หลังเตารีท ปี พ.ศ.2505 นั้น มีการสร้างและปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดอีกหลายประเภท ที่รู้จักกันดีเรียกกันว่า "พระหลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือ" และ "พระกริ่งเฉลิมพล" ซึ่งอย่างแรกนั้นเป็นการปั๊มจากโรงงานซึ่งมีลักษณะน่าสนใจดังนี้ - เนื่องจากเป็นการปั๊มด้วยเครื่องของโรงงาน ขอบข้างขององค์พระจะมีรอยเส้นของการกระแทกตัดอยู่โดยรอบ พระกริ่งเฉลิมพล - หลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือมีความหนาพอสมควรและวัสดุที่ใช้เป็นประเภทโลหะผสมแก่ทองเหลือง พบเป็นทองเหลืองล้วนๆ บางส่วน มีการนำไปกะไหล่ทองหรือบ้างก็รมดำ ตัวองค์พระมีความฉ่ำเนื่องจากน้ำมันที่อาจารย์สวัสดิ์ชุบ ก่อนส่งไปตามทางรถไฟ ให้พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ปลุกเสก เข้าไปเกาะติดอยู่ตามซอกเนื่องจากเป็นพระโรงงาน จึงมีความเรียบร้อยกว่าแบบอื่นๆสามารถแบ่งออกเป็น พิมพ์ใหญ่ กับ พิมพ์เล็ก "พิมพ์ใหญ่" จะมีบล็อกตัว ท. คือมีตัว ท ทหาร บริเวณใต้หน้าตักเหนือฐานบัว. พิมพ์บล็อกวงเดือน หมายถึงบริเวณฐานจะมีรอยวงโค้งเป็นริ้วๆ คล้ายวงเดือน บล็อกเสาอากาศ หมายถึง ด้านหลังองค์พระที่เป็นตัวหนังสือมีเส้นพิมพ์แตกลากไล่จากด้านบนลงมาล่างในแนวเฉียง ปลายเส้นบนชี้ไปตามเข็มนาฬิกาที่เวลา 11.00 น. และบล็อกธรรมดา นอกจากนี้ยังมีบล็อกที่เรียกกันต่างๆ อีก เช่น บล็อกสายฝนหมายถึงใต้ท้องแขนซ้ายมีเส้นเล็กๆ คล้ายสายฝน บางทีก็มีเรียกบล็อกหน้าวงเดือนหลังเสาอากาศ เป็นต้น ส่วน "พิมพ์เล็ก" นั้น นอกจากเนื้อที่กล่าวแล้ว ยังปรากฎเนื้ออัลปาก้าด้วย และมีหลายบล็อกเช่นกัน ได้แก่ บล็อกตัว ท. บล็อกว จุด หมายถึง ตัว ว แหวนของคำว่า วัด ด้านหลัง จะมีจุดตรงหัว ว แหวน ให้สังเกตเส้นจะต่อกับจุดที่ปรากฎคล้ายคีมคีบจุดเอาไว้นอกจากนี้ก็จะมีบล็อกธรรมดาทั่วไป ซึ่งบล็อกธรรมดาจะไม่มีจุดตรงตัว ว แหวน ด้านหลัง ส่วนด้านหน้าจะเป็นบล็อกเดียวกันกับบล็อก ว จุด ครับ พิมพ์หลังตัวหนังสือเล็ก ตัว ท และ ว มีจุด (วงเดือน) ทีนี้เราลองมาพูดกันถึง "บล็อกนิยมพิมพ์ใหญ่มีตัว ท." กันก่อนนะครับ วิธีสังเกตนอกจากจะต้องดูธรรมชาติขององค์พระและรอยปั๊มให้เป็นแล้ว มีข้อสังเกตคือ รูปทรงองค์พระจะมีลักษณะเป็นกลีบบัวแต่ปลายมนไม่แหลมเหมือนหลังเตารีด, ตาหลวงปู่จะนูนกลมเป็นเม็ดที่เรียกว่าตาเนื้อทั้งสองข้าง, บ่าขวาจะยกสูงกว่าบ่าซ้ายเห็นกระดูกไหปลาร้าชัดเจน และปลายนอกกระดูกไหปลาร้าจะจดกับเส้นกระดูกหัวไหล่, ปลายนิ้วชี้มือซ้ายขององค์พระแตกเป็นปากตะขาบ ด้านหลังของหลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือจะเรียงเป็นแถว อ่าน ได้ว่า แถวที่ 1 นะ แถวที่ 2 โมโพธิสัต แถวที่ 3 โตอาคันติมา แถวที่ 4 ยะอิติภะคะวา ซึ่งพระคาถานี้ได้ผูกขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง “นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา" ถอดความได้ว่า ข้าพเจ้าจำขอนอบน้อมแด่เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวดผู้เป็นพระโพธิสัตว์ อันเป็นผู้นำพาโชคเข้ามาสถิตในตัวของข้าพเจ้านี้ ซึ่งข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาด้วยความเคารพ ด้านล่างสองแถวเป็นคำ หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ถ้าเป็นบล็อกเสาอากาศเส้นจะผ่านคำว่า โม-ในแถว 2 โต-อะในแถว 3 อิ-ติ ในแถว 4 จนถึง คำว่า ง-พ่อ ส่วนตัว ว ด้านหลังองค์พระนั้น จะมีหลายลักษณะ เช่น ว มีจุด ว หัวกลวง ว หัวแบน ว หัวเหลี่ยม ให้สังเกตที่ตัวอักษร ว ที่ตั้งขึ้นมาจากพื้นจะต้องเป็นเหลี่ยมคมชัดไม่เบลอ องค์หลวงปู่มีน้ำหนักพอสมควร และมีร่องรอยการปั๊มตัดเป็นเส้นๆ ตามขอบชัดเจน พิมพ์หลังตัวหนังสือใหญ่ บล็อก ท ส่วน พระกริ่งเฉลิมพลฯ นั้น เรียกตามพระนามของพระองค์ผู้ทรงอุปถัมภ์การสร้าง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือ พระองค์ชายกลาง (29 เมายน 2456-1 ตุลาคม 2534)ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลพลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระอุทรกับพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงมีพระเชษฐาและพระอนุชา คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2534 พระชันษา 78 พรรษา เสด็จพระองค์ชายกลางทรงมีความเกี่ยวพันกับตำนานการสร้างพระหลวงปู่ทวด วัด ช้างให้ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านทรงคบหาสนิทสนมเป็นมิตรกับคหบดีใหญ่ปักษ์ใต้คือ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ และได้รับมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 จากคุณอนันต์มาหนึ่งองค์โดยทรงบูชาติดตัวประจำ ครั้งหนึ่งรถยนต์ที่ประทับเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ แต่พระองค์เองไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวดวัดช้างให้อย่างสูง และเมื่อทางวัดโดยพระอาจารย์ทิม และคุณอนันต์ คณานุรักษ์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง และได้นำชนวนโลหะอันศักดิ์สิทธิ์มาเทหล่อเป็นเนื้อโลหะต่างๆ ที่กรุงเทพมหานคร กลายเป็นพระรุ่น พ.ศ.2505 ที่ลือลั่นมาจนถึงปัจจุบัน พิมพ์หลังหนังสือเล็ก ว มีจุด ในการจัดสร้างพระครั้งนั้น เนื่องด้วยพระองค์ชายกลางเป็นผู้อุปถัมภ์ก็จึงสำเร็จลุล่วงด้วยดี และท่านได้จัดสร้างพระกริ่ง อันงดงามด้วยพุทธลักษณะขึ้นในครั้งนั้นด้วย เมื่อทำการหล่อพระกริ่งได้ให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้น และเททองปลุกเสกโดยพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ พร้อมกันกับพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 ครั้นเสร็จจากพิธี ท่านได้ถวายพระกริ่งซึ่งสำเร็จขึ้นมีพุทธลักษณะงดงามให้กับวัดช้างให้ จำนวน 300 องค์ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “พระกริ่งใหญ่หลวงปู่ทวด" หรือ พระกริ่งวัดช้างให้ ส่วนที่เหลือทรงนำมาถวายให้วัดตาก้อง ด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรนั้นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และทำการปลุกเสกอีกวาระโดยเกจิอาจารย์สายนครปฐม ผู้คนเรียกกันว่า "พระกริ่งเฉลิมพล” ซึ่งทั้งสองประเภทได้รับความนิยมแสวงหาจากนักสะสมอย่างยิ่ง และต่อมาผู้คนก็พลอยเรียกพระกริ่งของวัดช้างให้ว่าพระกริ่งเฉลิมพล ไปด้วย แต่หากพิจารณากันแล้วกริ่งที่แยกกันดังกล่าวมีส่วนต่างกันก็คือ พระกริ่งเฉลิมพล วัดตาก้อง จะมีการอุดกริ่งที่ฐานและมักจะมีการตอกหมายเลขกำกับ พร้อมโค้ดลายเซ็น "เฉลิมพล" ซึ่งอาจจะมีเพียงตัวเลข หรือ พระนามอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ บางองค์พบว่ามีเพียงโค้ดตัว ฉ ตอกกำกับบางองค์ไม่ตอกก็ยังมี ส่วน พระกริ่งวัดช้างให้นั้น บรรจุเม็ดกริ่งแบบกริ่งนอก คือคว้านก้นใส่เม็ดกริ่งแล้วอุดฐาน ลักษณะของพระกริ่งเฉลิมพลทั้งสองวัด เป็นการเทหล่อแบบโบราณ จึงมีคราบดินขี้เบ้าปรากฏ มีการแต่งบ้างเล็กน้อย พุทธลักษณะงดงาม องค์พระประทับนั่ง ปางมารวิชัย สมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายทรงวชิระหรือหม้อน้ำมนต์ เป็นแม่พิมพ์แบบไม่ประกบจึงไม่มีรอยประกบด้านข้าง องค์พระค่อนข้างเพรียวยาว พระเนตรนูนเป็นตาเนื้ออุณาโลมเป็นเม็ดกลม ด้านหลังไม่มีกลีบบัว กระแสจะออกทางแดงอมน้ำตาล มักพบรอยตะไบแต่งขอบข้างเป็นริ้วบางๆ และได้รับความนิยมมากทั้งสองวัดครับผม