วันที่ 21 ก.ย. นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่า ขณะนี้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.อยู่ระหว่างถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นครู จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นสหกรณ์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเชิญผู้แทนสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง มาพูดคุย ว่าที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างไรบ้าง พร้อมกับเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ได้วางไว้ ให้ผู้แทนของสหกรณ์พิจารณา และเสนอความคิดเห็น และจะนำข้อเสนอที่ได้รับมาวิเคราะห์ และกำหนดเป็นแนวทางการทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป “คาดว่าใช้ระยะเวลาไม่นาน จะสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณา หากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นชอบ จะเสนอให้คณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนรายย่อย ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เน้นย้ำให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหานี้สินครูฯ เร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา และลดความเดือดร้อนให้ครูโดยเร็ว” นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะนำบทเรียนที่ถอดจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้ง 2 แห่ง มาขยายผลนำร่องแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยจะคัดเลือกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภาคละ 3 แห่ง รวม 12 แห่ง มาแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะเปิดโอกาสให้สหกรณ์ที่สนใจมาเข้าร่วมนำร่องแก้ไขปัญหาหนี้สินครูด้วย นายสุทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้สิน จะช่วยครูที่ประสบหนี้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับวิกฤตหนัก กำลังจะโดนฟ้องร้อง จะช่วยไกล่เกลี่ย ส่วนครูที่เป็นหนี้ระดับกลาง และระดับปกติ เบื้องต้นจะช่วยลดดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ลดค่าธรรมเนียมการดำเนินการต่างๆ เป็นต้น สาเหตุที่นำร่องในแก้ปัญหาในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพราะจากการสำรวจพบว่า ครูส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่สหกรณ์ออกทรัพย์ครู มากกว่าเป็นหนี้ที่สถาบันการเงินอื่นๆ และจากข้อมูลที่รวบรวมมา พบว่าภาพรวมครูทั่วประเทศ เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ จะวางแผนช่วยเหลือ และป้องกันครูที่เป็นหนี้ทุกด้าน เช่น หากประสบปัญหาถูกดำเนินคดี หรือฟ้องร้อง จะช่วยเข้าไปไกล่เกลี่ย พร้อมกับประสานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สร้างหลักสูตรให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อสอนครูที่บรรจุใหม่มีความรู้สามารถบริหารจัดการเงินของตน และลดรายจ่ายสร้างรายได้ให้ตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้”