การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยผลการจัดการแข่งขัน Live Streaming นำเสนอสินค้าและบริการชุมชนท่องเที่ยวทั่วไทยผ่านโครงการ Blogger the Series Live นี้เพื่อชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ให้กับชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สู่นักท่องเที่ยว สร้างการรับรู้กว่า 20 ล้านการรับรู้ เกิดเม็ดเงินไหลเข้าชุมชนเพิ่มขึ้น 100% ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ​นายนิธี สีแพร ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่ ททท. ได้ดำเนินโครงการ Blogger the Series Live นี้เพื่อชุมชน โดยเชิญชวนบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ สายกินสายเที่ยว มาแข่งขัน Live Streaming เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการชุมชนท่องเที่ยว ที่กิน ที่เที่ยว ที่พัก ผ่านช่องทาง Social Media ของตน ทั้งนี้ ชุมชนที่ร่วมโครงการฯ มีทั้งหมด 60 ชุมชน คัดเลือกจากชุมชนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอด 100 หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และชุมชน Thailand Rural Tourism Awards 2020 จากทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 8 เดือน 8 (สิงหาคม) ที่ผ่านมานั้น ปรากฎว่าผลการดำเนินงานในครั้งนี้เกิดการสร้างคอนเทนท์ในช่องทางออนไลน์เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ มีการไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านโซเชียลมีเดียของบล็อกเกอร์ กว่า 46 ช่องทาง สร้างการรับรู้มากกว่า 20 ล้านการรับรู้ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์และพันธมิตรทุกช่องทาง โดยมีประชาชนอุดหนุนสินค้าในชุมชนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการสอบถามไปยังชุมชน พบว่ามีรายได้จากการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100% ในรอบ 1 เดือน คือ เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2564 เช่น ชุมชนนาข่า จังหวัดอุดรธานี มีรายได้จาก 20,000 บาท ในเดือนกรกฎาคม มีรายได้เป็น 200,000 บาท ในเดือนสิงหาคม ชุมชนนาหม้อ จังหวัดอำนาจเจริญ มีรายได้ 8,000 บาท ในเดือนกรกฎาคม แต่มีรายได้ 20,000 บาท ในเดือนสิงหาคม ชุมชนปางห้า จังหวัดเชียงราย มีรายได้หลักร้อยบาท ในเดือนกรกฎาคม แต่ในเดือนสิงหาคมมีรายได้ 43,000 บาท ชุมชนโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ไม่มีรายได้ในเดือนกรกฎาคม แต่ในเดือนสิงหาคม มีรายได้ 15,000 บาท ชุมชนบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีรายได้ในเดือนกรกฎาคม แต่ในเดือนสิงหาคม มีรายได้ 30,000 บาท ชุมชนวังส้มซ่า จังหวัดพิษณุโลก มีรายได้ในเดือนกรกฎาคม 80,000 บาท ในเดือนสิงหาคมที่ มีรายได้ 120,000 บาท และยังมีผู้สนใจในเรื่องอื่น ๆ เช่น ชุมชนห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีการติดต่อสอบถามสั่งจองเมล็ดกาแฟไว้ล่วงหน้า ชุมชนมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน มีผู้สอบถามการเข้าพัก ชุมชนอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ต้องการให้มีกิจกรรมเชิงประชาสัมพันธ์เป็นระยะ ๆ เพื่อให้มีผลิตสินค้าต่อเนื่อง ชุมชนบ้านดอกบัว จังหวัดพะเยา ขอให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเพราะเพจชุมชนเริ่มมีคนติดต่อสอบถามเรื่องสินค้าและการเข้าพักมา ชุมชนลีเล็ด จังหวัดสุราษฏร์ธานี ขอให้ทำกิจกรรมลักษณะนี้บ่อยครั้งและมีระยะเวลาที่นานกว่านี้ จะได้นำสินค้าส่งไปให้บล็อกเกอร์ประกอบการไลฟ์สตรีมมิ่งด้วย ชุมชนบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้บ่อย ๆ อยากให้บล็อกเกอร์มาไลฟ์สตรีมมิ่งที่ชุมชนด้วย โดย ​นายนิธี กล่าวมต่อว่า โครงการ Blogger the Series Live นี้เพื่อชุมชน ได้จัดแข่งขันไลฟ์สตรีมมิ่งชิงเงินรางวัลกว่า 4 แสนบาท มีผู้ประกอบการโรงแรมขอร่วมสนับสนุนบัตรกำนัลที่พักเป็นของรางวัลให้ผู้ชนะ 3 เพจแรกด้วย กิจกรรมแข่งขันในครั้งนี้ นี้มีบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ เข้าร่วมแข่งขันถึง 46 ช่องทาง กระตุ้นการซื้อขายสินค้าชุมชน 60 ชุมชนทั่วประเทศ โดยที่มีการกิจกรรมในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา และได้ประกาศรายชื่อบล็อกเกอร์ที่ชนะ 33 อันดับไปแล้วในวันที่ 7 กันยายน 2564 ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ : TheLocallicious โดยผู้ที่ชนะเลิศอันดับ 1 มียอดการรับรู้ในไลฟ์สตรีมมิ่งถึง 211,744 การรับรู้ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน สามารถชมไลฟ์สตรีมมิ่งทั้งหมดไว้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจเดียวกันนี้ อีกทั้ง โครงการ Blogger the Series Live นี้เพื่อชุมชน ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำโปรโมชั่นส่วนลดให้กับผู้ที่สั่งซื้อสินค้าชุมชนผ่าน Thailandpostmar.com เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง และยังได้จัดแคมเปญกระตุ้นการขายหลายแคมเปญในเฟซบุ๊กโครงการ : TheLocallicious เช่น แคมเปญดูดี ๆ มีรางวัล , แคมเปญชี้เป้าของเด็ด , แคมเปญไลฟ์ไหนฟินสุด อย่างไรก็ตาม นายนิธี กล่าวต่อว่า แม้การดำเนินโครงการอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ 100% แต่ก็ยังสามารถช่วยเหลือชุมชนได้ ด้วยการอุดหนุนสินค้าชุมชน สร้างรายได้สร้างขวัญและกำลังใจก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทย ตามเป้าหมายหลักของ ททท. โดยคาดว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลงเรื่อย ๆ จึงถือว่าการจัดโครงการนี้ได้ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย