ในบรรดาแขวงต่างๆ ของลาวตอนใต้ต้องยกให้แขวงจำปาสัก เป็นแขวงที่รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะภูมิศาสตร์ของแขวงนี้มีสภาพที่หลากหลาย ทั้งป่าใหญ่บนที่สูง และที่ราบลุ่มริมน้ำโขง เป็นแขวงที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางแขวง อยู่ติดกับพรมแดนไทยที่ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี สามารถนำรถเข้าไปเที่ยวได้สะดวกหรือจะใช้บริการแพ็กเก็จทัวร์ก็ได้ เมืองของแขวงจำปาสักคือ “ปากเซ” อยู่ห่างจากช่องเม็กเพียง 42 กิโลเมตร แขวงจำปาสัก มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกติดกับชายแดนประเทศไทยทางด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทิศใต้ติดต่อกับเขตจังหวัดกัมปงทมของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ 15,415 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเมืองต่างๆ คือ เมืองปากเซ ชนะสมบูรณ์ ปากช่อง ประทุมพร สุขุมา จำปาสัก โพนทอง เมืองโขง มุลละปาโมก ในอดีตแขวงจำปาสักมีชื่อเรียกว่า เขตแคว้นของนครกาละจำบากนาคะบูริสี เป็นศูนย์รวมของศิลปวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจของประเทศลาวตอนใต้ แต่ภายหลังที่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมตั้งเมืองปากเซขึ้นเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2448 เมืองจำปาสักซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของแขวงจำปาสักจึงถูกลดระดับความสำคัญลงไป เมื่อเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานส่วนภูมิภาคครั้งที่ 2 กับคณะผู้ฝึกอบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 6 ระหว่างวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2559 ณ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว -จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย การเดินทางครั้งนี้ทางคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานจังหวัดอุบลราชธานี และแวะรับประทานอาหารเช้าที่ ห้องอาหารสามชัย ร้านอาหารเช้าดั้งเดิมเมืองอุบล ที่นี่มีเมนูอาหารเช้าที่ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ไข่กระทะ ที่อร่อยไม่แพ้ของดีเมืองอุดรและขอนแก่น ไข่ร่อนหอมเนย เครื่องเคราจัดเต็มด้วยหมูยอ กุนเชียง เมนูโจ๊ก และ ก๋วยจั๋บญวณ หลังจากที่อิ่มหนำสำราญแล้วทางคณะได้ออกเดินทางต่อ ไปยังด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร พรมแดนระหว่าง ไทย-ลาว ผ่านขั้นตอนพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เสร็จแล้วมุ่งหน้าสู่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และได้มีโอกาสเข้าเยี่ยม ท่านบัวลิน วงพะจัน รองเจ้าแขวง แขวงจำปาสัก และเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์แขวงจำปาสัก ร้านดิวตี้ฟรี ชายแดน ลาว-ไทย เข้าเยี่ยมท่านบัวลิน วงพะจัน รองเจ้าแขวงจำปาสัก ท่านบัวลิน วงพะจัน รองเจ้าแขวง แขวงจำปาสักได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแขวงจำปาสักแก่คณะผู้ฝึกอบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ว่า แขวงจำปาสัก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 15,350 ตารางกิโลเมตร มีเมืองอยู่ประมาณ 10 เมือง และมีเมืองปากเซ เป็นเมืองศูนย์กลาง โดยมีหมู่อาศัยอยู่ประมาณ 643 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 694,468 คน ซึ่งความหนาแน่ของประชากรพบว่า 45 คนต่อตารางกิโลเมตร สำหรับเมืองแขวงจำปาสักมีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางระหว่างเมืองภูเพียง กับเมืองปากเซ ที่ตั้งสำคัญของเมืองจำปาสัก สภาพภูมิศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม เหมาะกับการทำกสิกรรม และเลี้ยงสัตว์ โดยมีถนนเส้นทางผ่านหลายสาย เช่นเส้นทางเชื่อมต่อผ่านเอเยจากประเทศไทย จากจังหวัดอุบลราชธานีเชื่อมไปประเทศกัมพูชา และไปทางใต้ของเวียดนาม และมีด่านกงศุล3 แห่ง ที่บริเวณช่องแม็ก และปากเซ ซึ่งในเมืองปากเซจะมีสถานกงศุลของต่างประเทศจะมีอยู่ 2 แห่ง คือ ประเทศเวียดนามกับกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีสายการบินที่บินผ่านในเมืองปากเซ ที่มีทั้งสากลและต่างประเทศ คือ สายกินบินของเวียดนาม กัมพูชา และ ประเทศไทย สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในเมืองปากเซมีจำนวนกว่า 200 กว่าแห่ง โดยเฉพาะจะมีมากที่สุดคือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติกว่า 100 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรม 60 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ประมาณ 40 แห่ง และแขวงจำปาสัก เป็นพื้นที่ที่เป็นมรดกโลก คือวัดพู จะมีการเฉลิมฉลองกันทุก ๆ ปี ด้านเศรษฐกิจของจำปาสักมีการขยายตัวต่อเนื่องในปี 2015 มีการขยายตัวประมาณ8.10เปอร์เซ็นต์ มีทั้งด้านอุตสาหกรรม กสิกรรม อุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมมีการขยายตัวประมาณ 34.50 เปอร์เซ็นต์ ด้านบริการ 32.40เปอร์เซ็นต์และกสิกรรม 60.10เปอร์เซ็นต์ และรายรับของแขวงจำปาสักประมาณ 2,663 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งการลงทุนจะมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ประมาณ 351 โครงการ มูลค่าประมาณ 2,470.80ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งเป็นการลงทุนภายในประเทศ 170 โครงการ และต่างประเทศ 172 โครงการ สำหรับประเทศที่มาลงทุนในแขวงจำปาสักประมาณ 18 ประเทศ โดยอันดับแรกประเทศมาเลเซีย 37 เปอร์เซ็นต์ อันดับสองคือเวียดนาม 22 เปอร์เซ็นต์ และอันดับสามคือไทย 20 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศไทยมีการลงทุนในแขวงจำปาสัก 52 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 293 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้จะมีการลงทุนร่วมกับประเทศต่างๆ แล้ว ยังมีการโครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงยังมาร่วมกับมหาวิทยาลัยจำปาสักมีการสาธิตปลูกพืชทดลอง และมีการพัฒนาการลงทุนในด้านต่างๆ ท่านบัวลิน วงพะจัน รองเจ้าแขวง แขวงจำปาสัก กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจมีต่างประเทศมาลงทุนทั้งหมด 18 ประเทศ อันดับหนึ่งคือ มาเลเซีย อันดับสองคือเวียดนาม และอันดับสามคือไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรมที่มีการส่งเสริมในเรื่องวัฒนธรรมเรียนรู้การจัดงานวัฒนธรรมแบบจังหวัดอุบลราชธานีที่มีการจัดประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาได้อย่างยิ่งใหญ่มาจัดในที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ติดขัดในเรื่องงบประมาณ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสมที่สุด ส่วนงานประเพณีเดินขึ้นปราสาทวัดพูจัดในช่วงเดือนสามเดือนสี่ เป็นงานบุญประเพณีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เทียบกับประเทศไทยคืองานบุญประจำปีหรือบุญมหาชาติ อยากจัดให้ยิ่งใหญ่เหมือนกับ จังหวัดอุบลราชธานี โดยอาจจะมีการประสานของความร่วมมือไปยังประเทศไทย และจังหวัดอุบลราชธานีในการจัดงานในด้านนี้ ปราสาทวัดพู ปราสาทวัดพู สำหรับวัฒนธรรมประเพณี และความเป็นอยู่ของประชาชน กฎหมายที่เคร่งครัด และคุมเข้มในเรื่องของการออกจากบ้านในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย จากเดิมที่จะพยายามเปิดเป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นเน้นท่องเที่ยวสถานบันเทิง ซึ่งได้มีการทดลองแล้ว แต่เกิดปัญหาในเรื่องอาชญากรรม และมิจฉาชีพ จึงได้เปลี่ยนมาปิดสถานบันเทิงเวลา 23.00 น.ของทุกคน กิจกรรมส่งเสริมที่จะนำรายได้เข้าเมืองโดยเน้นขายวัฒนธรรมการท่องเที่ยว เน้นกลุ่มผู้สูงอายุ จะไม่เน้นในเรื่องของร้านอาหาร แต่จะมุ่งเน้นนำเสนอด้านวัฒนธรรมและประเพณีท่องเที่ยว อีกทั้งการที่ประเทศลาวไม่มีทางออกทะเล ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เพราะลาวมีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในลาว รวมถึงมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การตัดถนน การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น สุดท้ายท่านบัวลิน วงพะจัน ได้กล่าวถึงเป้าหมายของแขวงจำปาสักคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการบริการ สร้างเมืองให้เป็นเมืองสีเขียว สะอาด สงบ มีเสน่ห์ และน่าอยู่ รวมถึงเน้นความสามัคคี และมีกฎหมายที่เข้มแข็งในการดูแลปกครองประชาชนในแขวงจำปาสัก อีกทั้งการที่ลาวได้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน รวมทั้งการพัฒนาด้านสื่อสารมวลชน แขวงจำปาสักมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนเช่นเดียวกัน หลังจากที่เยี่ยมท่านบัวลิน วงพะจัน รองเจ้าแขวงจำปาสัก แล้ว ทางคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 6 ได้เดินทางไปเยี่ยมชม หอศิลปวัฒนธรรม ประจำแขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรวบรวมวัตถุโบราณของแขวงจำปาสัก จัดแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าชม หอศิลปวัฒนธรรมมีสองชั้น ตั้งอยู่ในบริเวณเขตเมือง โดยมีการจัดแสดงอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เสื้อผ้า อาวุธ พระพุทธรูป ภาพถ่ายโบราณ ทับหลังของปราสาทหรือศาสนสถานสำคัญต่างๆ เป็นอีกหนึ่งสถานที่เยี่ยมชมที่ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นมา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของแขวงจำปาสัก โดย :สยามรัฐออนไลน์